ปทุมธานีสืบสาน “ประเพณีรำพาข้าวสาร” สานต่อวัฒนธรรมไทยแต่โบราญที่นับวันจะเลือนหาย
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 19 ต.ค.2562 ที่ท่าน้ำหัวถนน หมู่ 2 (ท่าลาน) ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน นายอำเภอสามโคก นายไวพจน์ เอี่ยมสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมโครงการอนุรักษ์ประเพณีรำพาข้าวสาร ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวมอญเมื่อครั้งอพยพมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2310 โดยมีข้าราชการท้องถิ่น และประชาชนร่วมประเพณีรำพาข้าวสาร โดยนายอำเภอสามโคก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีร่วมกับประชาชน ได้ลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อร่วมประเพณีรำพาข้าวสาร ร้องเพลงรำพาข้าวสาร ไปตามบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ยินเสียงเพลงและออกมาร่วมทำบุญในครั้งนี้ โดยประชาชนได้นำข้าวสารและอาหารแห้งต่างๆ ใส่ถุง รวมถึงมอบเงินบริจาคกันอย่างมากมาย
นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน นายอำเภอสามโคก กล่าวว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีรำพาข้าวสาร ซึ่งเป็นประเพณีที่ดีงามของจังหวัดปทุมธานี และมีความเกี่ยวโยงกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนทางอีกทางที่จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความรักความสามัคคีกลมเกลียวของคนในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของคนไทยที่เป็นคนอ่อนโยน เกื้อกูล และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
นายไวพจน์ เอี่ยมสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง กล่าวว่า ประเพณีการรำพาข้าวสารจะเริ่มกระทำเมื่อออกพรรษาแล้ว จัดให้มีการร้องเพลงทำนองเชิญชวนให้ทำบุญเรียกการเรี่ยไรว่า รำพาแลกข้าวสาร โดยจะมีทั้งชายหญิงลงเรือล่องไปตามบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเรือจะมีกระบุงและกระสอบสำหรับใส่ข้าวสาร เมื่อเรือจอดถึงบันไดของบ้านใดบ้านหนึ่ง คนในเรือก็จะร้องเพลงโดยมีต้นเสียงหรือแม่เพลงร้องเป็นทำนองเชิญชวนให้ทำบุญร่วมกัน เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลงก็เอาขันตักข้าวสารมาให้ที่เรือแล้วยกมือไหว้เป็นการอนุโมทนาด้วย คณะรำพาข้าวสารก็จะให้ศีลให้พรเป็นเพลงให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุขทำมาค้าขึ้น เมื่อร้องเพลงให้พรเสร็จแล้ว คณะรำพาข้าวสารก็จะพายเรือไปแวะบ้านอื่นต่อๆ ไป ซึ่งข้าวสารและเงินที่ได้มาจะนำไปทำบุญทอดกฐิน และทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ ที่ยังไม่มีคนจองกฐิน หรือยังไม่ได้ทอดกฐินนั่นเอง
ด้านนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าด้วยความฉลาดของคนในอดีตที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้นำวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำ นำมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาได้อย่างลงตัวจนก่อให้เกิดเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่า เรียกว่า “ประเพณีรำพาข้าวสาร” คำว่า “รำพา” หมายความว่า การชักชวน เชิญชวน การรำพาข้าวสาร หมายถึง การเชิญชวนท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญ การเชิญชวนท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญ ด้วยการรำพาข้าวสารนั้นก็หมายถึงการร้องรำพาด้วยถ้อยคำสำเนียงเสียงภาษาที่ไพเราะ เสนาะต่อผู้ที่ได้ฟัง จนเกิดศรัทธาและร่วมบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ร่วมทำบุญ การรำพาข้าวสาร นิยมจัดขึ้นในช่วงหน้าน้ำ ประมาณช่วงออกพรรษาและเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะได้ร่วมงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกว่า การทอดกฐิน การรำพาข้าวสาร เป็นการบอกบุญทางเรือ โดยบอกบุญกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ การรำพาข้าวสาร จะร้องรำพาในช่วงกลางคืน ก่อนที่จะถึงวันทอดกฐินเพื่อรวมรวมสิ่งของ จตุปัจจัยไปร่วมทอดกฐิน การร้องรำพาข้าวสาร จะมีพ่อเพลง แม่เพลง เป็นต้นเสียงในการร้องเชิญชวน และผู้ที่ร่วมเรือกันมาก็จะเป็นลูกคู่ ตัวอย่างเนื้อร้อง เจ้าขาวแม่ลาระลอกเอย ลาหอมดอกดอกเอ๋ยจำปา ข้างขึ้นแล้วหนอเรามาขอรำพา เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา สาวเอย มาถึงบ้านนี้เอย อย่าได้รอรี จอดหัวบันได โอ้แม่เจ้าประคุณลูกเอาส่วนบุญมาให้ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา สาวเอย การร้องรำพา ถือว่าเป็นการเรียบเรียงคำง่าย ๆ ที่มีความสัมผัสก่อให้เกิดความไพเราะโดยพ่อเพลงแม่เพลง ร้องเชิญชวนในการร่วมทำบุญทอดกฐิน ประเพณีรำพาข้าวสาร ผูกติดอยู่กับประเพณีตักบาตรพระร้อยของชาวจังหวัดปทุมธานี
โดยเมื่อถึงวันออกพรรษาก่อนจะถึงวันเทศกาลตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านก็จะออกไปรำพาข้าวสารตามบ้านเรือนประชาชนทั่วๆไปแล้วนำข้าวสารที่ได้มานั้นไปถวายวัดเพื่อใช้ในการหุงข้าวสวยข้าวต้ม เลี้ยงพระในวันตักบาตรพระร้อย จึงถือเป็นประเพณีที่ผูกพันกันมายาวนาน การดำเนินงานในครั้งนี้ เน้นการทำงานแบบบูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทางวัฒนธรรม อาทิ สภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอ และตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง สมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญปทุมธานี และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา ปทุมธานี