ปทุมธานี ศรัทธาพุธศาสนิกชนตักบาตรพระร้อยท่ามกลางสายฝนวัดจันทน์กะพ้อ

ศรัทธาพุธศาสนิกชนตักบาตรพระร้อยท่ามกลางสายฝนวัดจันทน์กะพ้อ ปทุมธานี
เมื่อเวลา8.00น.วันที่ 14 ต.ค.2562 ที่วัดจันทน์กะพ้อ (พระอารามหลวง) ต.บางเตย อ.สามโคก ปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ประธานในพิธี นายมงคล ธิดาธัญลักษณ์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมและประชาชนร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยมี พระศรีมงคลเมธี (วิชาญ กลฺยาณธมฺโม ป.ธ.๙ ,ดร.)เจ้าอาวาสวัดจันทน์กะพ้อ พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์


โดยบรรยากาศวันนี้ฝนได้เทลงมาอย่างหนักแต่ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนเดินทางมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา มีความตั้งใจที่จะมาร่วมทำบุญโดยไม่กลัวสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักนั่งถือร่มรอตักบาตรริมท่าน้ำ
วัดจันทน์กะพ้อ (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่ตำบลบางเตย ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 6 กิโลเมตร สร้างโดยชาวมอญในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยให้ชื่อว่า “วัดโก๊วะ” ซึ่งแปลว่า “จันทน์กะพ้อ” ซึ่งชาวมอญ ถือว่าเป็นไม้มงคลเหมือนต้นราชพฤกษ์ต่อมาปี พ.ศ. 2495 พระราชสุทธิโสภณ ขอเปลี่ยนนามวัดใหม่ เป็นวัดจันทน์กะพ้อ ภายในวัดมีหอวัฒนธรรม ซึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุมอญ และยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่น โครงการผู้สูงอายุอีกด้วยการตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีตักบาตรทางน้ำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้น การตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชนการตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา “ประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ต่างเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป”

พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา / ปทุมธานี