สคร. 5 ราชบุรี แนะประชาชนเร่งกำจัดขยะมูลฝอยหลังน้ำลด ป้องกันโรคไข้ฉี่หนู
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค แนะประชาชนกำจัดขยะมูลฝอย ในบริเวณบ้านทันทีหลังน้ำลดเพื่อกำจัดแหล่งพักอาศัยของหนู และป้องกันโรคไข้ฉี่หนู หากประชาชนเริ่ม มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดน่องหรือโคนขาขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว พร้อมแนะวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยทุกประเภท
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่ง พื้นที่น้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะจึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนูที่มักพบมากในช่วงน้ำลดเช่นนี้ ไม่เพียงพื้นที่ชื้นแฉะเท่านั้น ขยะมูลฝอยที่อยู่ในพื้นที่บ้านเรือนมักเป็นแหล่งพักอาศัยของหนู ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคดังกล่าว โดยเชื้อโรคไข้ฉี่หนูอาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป แต่จะพบมากในหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ เช่น ตลาด คันนา สวน อาการของโรคไข้ฉี่หนูจะเริ่มจาก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และ ตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
นายแพทย์สมาน กล่าวต่อไปว่า สคร.5 ราชบุรี ขอแนะนำวิธีกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อป้องกันโรค ไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1.แยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกันใส่ถุงดำ สำหรับถุงเศษอาหารควรบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดแข็งแรงอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันสัตว์มากัดแทะหรือสัตว์มีพิษมาอาศัย รวมทั้งดูแลที่อยู่อาศัยให้สะอาด 2.แยกขยะประเภทอันตราย เช่น เครื่องไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ขวดบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายออกจากขยะทั่วไป โดยใส่ถุงปิดให้มิดชิดและเขียนป้ายกำกับว่าเป็นขยะอันตรายและเก็บให้พ้นน้ำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดให้ถูกวิธี 3.ควรแต่งกายให้มิดชิด เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมใส่สวมถุงมือยาง หรือถุงพลาสติก สวมรองเท้าบูทและหน้ากากอนามัยเวลาเก็บมูลฝอย 4.ขณะที่ทำการเก็บขยะภายในบ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
ทั้งนี้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขาโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขอให้ใช้วัสดุที่กันน้ำได้ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล และหมั่นล้างมือ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สมาน กล่าวปิดท้าย