อุบลราชธานี ช่วยดูแลหนึ่งชีวิตที่ผูกพันกันมา!!! ทำหมันดูแลน้องหมาน้องแมวพัดหลงจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วม

ช่วยดูแลหนึ่งชีวิตที่ผูกพันกันมา!!! ทำหมันดูแลน้องหมาน้องแมวพัดหลงจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วม
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 นำทีมสัตวแพทย์จิตอาสา ช่วยกันทำหมัน สุนัข แมว พัดหลง ตกค้างตามหลังคาบ้าน ตามวัด ที่ได้ช่วยมาในช่วงน้ำท่วม พร้อมส่งมอบคืนเจ้าของหลังน้ำลด
ที่ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนด้านสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ทีมสัตวแพทย์จิตอาสา จากจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังช่วยกันดูแล ฉีดยา ทำหมันสุนักข์ แมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ เจ้าหน้าที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ได้ช่วยเหลือมาได้จากการพัดหลง ติดอยู่ตามบ้าน ในวัด จากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ช่วงที่ผ่านมา
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่า สำหรับ กิจกรรมทำหมันสัตว์ประสบภัยในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมตามที่ นายวราวุธ ศิลปะอาชา ได้ให้นโยบายและความห่วงใย ”กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย” ในการดำเนินการดูแลสัตว์เลี้ยงที่พัดหลง และสัตว์ในพื้นที่ที่ได้ช่วยเหลือไว้จากอุทกภัยน้ำท่วม จากการ ตกค้างตามบ้านเรือน ตามวัดต่างๆ โดยได้นำมาพักฟื้นที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 สัตว์บางตัวนั้นอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว ที่นี้จึงเปรียบเหมือนศูนย์อนุบาลสัตว์ ซึ่งมีทีมสัตวแพทย์อาสา ผู้ช่วยแพทย์ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น และของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 มาร่วมกันทำหมันให้สัตว์ที่ช่วยมา หลังทำหมันแล้วก็จะมีการพักฟื้น หลักจากนั้น ในช่วงระหว่าง 7 – 15 วัน ถ้าน้ำลดลงแล้ว ก็จะนำสัตว์กลับไปยังพื้นที่ที่จับมา

โดยเฉพาะจะได้นำไปคืนเจ้าของที่ระบุตัวได้ว่าสัตว์เลี้ยวตัวนี้เป็นของเค้า นับเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระกับผู้ประสบภัยที่มีสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีปัญหาความไม่สะดวกในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ยังมีความห่วงใยสัตว์เลี้ยงของตน เปรียบเหมือนชีวิตหนึ่งที่มีความผูกพันด้วยกันมา เป็นการสร้างกุศลร่วมกัน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย ถ้าเจ้าของสัตว์อยากจะทราบว่าสัตว์เลี้ยงของตนเองได้อยู่ในศูนย์แห่งนี้หรือไม่ ก็สามารถโทร.ติดต่อสอบถามมาได้ที่ สายด่วน 1362 สามารถแจ้งเหตุได้ทุกเรื่อง หรือ ถ้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ถ้าสะดวกก็สามารถเข้ามาดูได้ที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ได้เลย โดยจะมีเจ้าหน้าที่สำรวจ ระบุข้อมูลได้ว่าสัตว์ตัวนี้จับได้จากพื้นที่ไหน

ธนัชชัย​ จึง​เจริญ​ รายงาน​