นครปฐม แถลงข่าว ความร่วมมือโครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”

ม.มหิดลแถลงข่าว ความร่วมมือโครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”

เมื่อวันที่19กันยายน2562 ที่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก  ตำบลพะเนียด  อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม

งานแถลงข่าวความร่วมมือโครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มพัฒนาโครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”โดยได้พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและเฝ้าระวังความเสี่ยงร่วมกับชุมชนซึ่งปีที่ผ่านมาร่วมกับชุมชนพัฒนารูปแบบการสร้างพื้นที่เล่นเพื่อการเรียนรู้ของเด็กผ่านพื้นที่ประกอบอาชีพต่างๆเช่นเล่นในร้านอาหาร เล่นในสวนเกษตร เล่นในฟาร์มกล้วยไม้ ปีนี้ทางสถาบัน ได้ร่วมกับ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์หลายสิบแห่งในจังหวัดนครปฐมพัฒนาพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กผ่านพิพิธภัณฑ์ โดยในวันนี้ได้ลงนามความร่วมมือครั้งที่1ร่วมกับพิพิธภัณฑ์7แห่ง ได้แก่พิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโก   woodland เมืองไม้ แฟนตาซี   พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย  ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)  หอภาพยนตร์   พิพธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง  พิพิธภัณฑ์วัดมะเกลือ โดยมี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  เป็นประธานการร่วมลงนาม

โดยก่อนพิธีลงนามได้นิมนต์พระครูยติธรรมานุยุต (อาจารย์แป๊ะ)เจ้าอาวาสวัดสว่างอารณ์ เกจิชื่อดังลุ่มน้ำนครชัยศรี ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเปิดงานแถลงข่าวความร่วมมือโครงการ “นครปฐมเป็นเมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”

ซึ่งพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเป็นวัตถุหรือรูปแบบนิทรรศการที่จับต้องได้ เล่นได้ มีชีวิตหรือมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับเด็กได้ สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ เกิดจินตนาการ กระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ของเด็กแบบหลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาสมองและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก แม้ว่าเด็กจะไม่เข้าใจเนื้อหาที่แสดงเป็นตัวหนังสือได้ทั้งหมด

พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจโลกและเริ่มขยายความคิดจินตนาการของเด็กในรูปแบบใหม่และซับซ้อนวัตถุที่เป็นรูปธรรมที่เด็กจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้แต่สื่อสารกับเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้ด้วยรูปแบบต่างๆจะเป็นรากฐานนำไปสู่การสร้างความเข้าใจหรือแนวคิดในเชิงนามธรรม ตัวอย่างเช่น ค่ายเล่นรอบเมืองของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดลในปีนี้ได้จัดฐานการเรียนรู้เรื่องศีลธรรมกับวัดห้วยตะโก โดยได้สร้างฐานผจญภัยสามโลก กิจกรรมจิ๊กซอปริศนาศีล 5 เชื่อมโยงความถูกผิดสู่โลกนรกสวรรค์ตามโครงสร้างของวัตถุที่จัดแสดงโดยทางวัดที่มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก  เมื่อพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมกับเด็กในประสบการณ์และบทสนทนาเหล่านี้ เด็กก็พร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลกได้ดีขึ้น

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ในประเทศพัฒนาหลายแห่งได้มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (แรกเกิด –8ปี) เพิ่มเติมจากเด็กกลุ่มวัยเรียนที่เคยเป็นกลุ่มหลักรวมอยู่กับกลุ่มผู้ใหญ่ โดยมีงานวิจัยสนับสนุนความสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาสมองในวัยเด็กเล็กนี้กลุ่มนักการศึกษาปฐมวัยของสถาบันพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนได้ทำการวิจัยและพบว่าพิพิธภัณฑ์ชนิดต่างๆที่เดิมในอดีตเป็นพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ที่สนใจเฉพาะเรื่อง สามารถจัดบริการเพื่อให้เกิดกระบวนการเล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่านพิพิธภัณฑ์ได้ดี แต่ต้องออกแบบและมีผู้เชี่ยวชาญ นำไปสู่การพัฒนาการเล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กทุกวัยผ่านพิพิธภัณฑ์ ต่อไป