อำนาจเจริญ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทยมอบถุงยังชีพพระราชทานให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานส่งมอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย ให้กับผู้ประสบภัย โดยมี นายวงเทพ เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางสุภวรรณ อมรโรจน์วรวุฒิ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ และคณะหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมในพิธีด้วย โดยประธานได้
ถวายราชสักการะ และเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระรูปพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทั้งนี้ จังหวัดอำนาจเจริญได้ขอความอนุเคราะห์ถุงยังชีพพระราชทาน จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 2,000 ชุด แยกเป็นถุงยังชีพพระราชทานอำเภอเมืองอำนาจเจริญ จำนวน 800 ชุด อำเภอหัวตะพาน 900 ชุด อำเภอลืออำนาจ 150 ชุด และอำเภอพนา จำนวน 150 ชุด
ประธานได้มอบถุงยังชีพพระราชทานให้กับผู้แทนอำเภอลืออำนาจ และอำเภอพนา จากนั้น นายสมเกียรติ แก้วรัตน์ นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ กล่าวรายงาน มีประชากรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 194 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร จำนวน 34,750 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 32,925 ไร่ มันสำปะหลัง 1,825 ไร่ การประมง ได้รับผลกระทบ 18 ราย รวม 68 บ่อ มี 5 หมู่บ้านได้รับผลกระทบรุนแรงถนนถูกน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรออกจากหมู่บ้านได้ จำนวน 878 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 2,346 คน ประกอบด้วย บ้านนาวัด หมู่ 8 ตำบลนาวัง,บ้านโนนขี้เหล็ก หมู่ที่ 9 ตำบลนาวัง บ้านนาหมอม้า หมู่ที่ 1,2 และหมู่ 7 ตำบลนาหมอม้า และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยได้รับความช่วยเหลือ รายละ 50,000 บาทแล้ว รวมทั้งทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้ร่วมบูรณาการการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมคณะได้เดินทางไปที่วัดพระศรีเจริญ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อมอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย
นายวิรัตน์ กลิ่นขจร นายอำเภอหัวตะพานได้กล่าวสรุปสถานการณ์อุทกภัย จากพายุโซนร้อนโพดุล และพายุคาจิกิ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 5 กันยายน 2562 ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำรงชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน ฝาย พื้นที่การเกษตร และด้านประมงของราษฎร ส่งผลให้ราษฎรได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ เป็นวงกว้าง รวมทั้งน้ำจากลำเซบายที่ไหลมาจากจังหวัดยโสธร และลำห้วยปลาแดกที่ไหลมาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มาบรรจบกัน ทำให้มีมวลน้ำปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อล้นท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎร จำนวน 8 ตำบล 75 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 44,657 ไร่ มีราษฎรที่ประสบภัย 10,426 ครัวเรือน โดยเป็นหมู่บ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมจนถูกตัดขาดจากภายนอก จำนวน 7 หมู่บ้าน 731 ครัวเรือน ประชากร 2,325 คน โดยได้มีการบูรณาการการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอำนาจเจริญ, ที่ทำการปกครองจังหวัดอำนาจเจริญร่วมกับที่ทำการปกครองอำเภอหัวตะพาน กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 สำนักงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และอำเภอหัวตะพานร่วมแจกจ่ายถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
เอกชัยโปธา ข่าวภูธร รายงาน