อุบลราชธานี ก้าวสำคัญสู่เมืองอัจฉริยะ อุบล สมาร์ท ซิตี้ นำเสนอโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีให้นำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Ubon Ratchathani Smart City ต่อจังหวัดอุบลราชธานี
ที่ ห้องประชุมสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี บริษัทอุบล สมาร์ท ซิตี้ จำกัด ได้นำเสนอโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีให้นำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Ubon Ratchathani Smart City ต่อจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายยุทธนา เทียมพงศ์ ที่ปรึกษากฏหมายอดีตผู้อำนวยการกองกฏหมายและระเบียบ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอำนาจ ศรีสมบัติ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุบล สมาร์ท ซิตี้ จำกัด และเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทเอเชียน ดีเวลลอปเม้นท์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ,คุณจันทรัตน์ ธนังคเวชวิบูลย์ และนายปรีชา เปลี่ยนศรี จาก บริษัทอินเทล ไมโครอิเลคทรอนิคส์ ประเทศไทยจำกัด นายธีรยุทธ วามนตรี และนายอิศเรศ บุญรักษา ตัวแทนผู้ประกอบการรถท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัด นายอภัย สบายใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี เป็นผู้ทรงคุณด้านการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมี นายประมวล สะอาด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี มารับฟังรายละเอียด และ แนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ
โดยได้วางกรอบแนวทางในการพัฒนาหลัก 3 ด้าน 1.โครงการสัญจรอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว Smart Mobility for Smart Tourism โดยจะมีการจัดสรรรถบัสไฟฟ้าปลอดควันนำมาบริการตามโปรแกรมท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลฯและโปรแกรมการท่องเที่ยวสองประเทศ อุบล-จำปาศักดิ์ ให้บริการวิ่งวนสำหรับทัวร์ไหว้พระ 9 วัดในทุกๆ 1 ชั่วโมง รวมทั้งการบริการตามจุดท่องเที่ยวอื่นๆ 2.โครงการพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เองได้ โดยจะมีลงทุนด้านพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าชชีวภาพ ที่อาศัยผลผลิตทางการเกษตรคือหญ้าเนเปียร์ จากการนำลำต้นหมักเป็นก๊าช ส่วนใบหญ้าก็นำไปเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร 3.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะSmart Environment โครงการสัญจรอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว Smart Mobility for Smart Tourism มีแผนการใช้รถบัสไฟฟ้าปลอดควัน และการท่องเที่ยวที่เสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเป็นคำตอบที่ทำให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างควบคู่กันไป การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานต่ำก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยแก็ส หรือถ่านหินที่ทำลายสิ่งแวดล้อมภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆอย่างผกผันกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน
องค์ประกอบที่สามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งการสัญจรอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว Smart Mobility for Smart Tourism และพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy จะส่งผลไปสู่ เศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart Economy และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Environment จึงเป็นความพร้อมสำหรับการนำจังหวัดอุบลราชธานีเข้าสมัครขอรับพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยต่อสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในรูปแบบเอกชนลงทุน หรือ การทำความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี หรือเทศบาล ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ส่วนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านอื่นๆเช่น การดำรงชีวิตอัจฉริยะ Smart Living พลเมืองอัจฉริยะ Smart People การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ Smart Governance) ซึ่งอาจจะอยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐบาลนั้น บริษัทฯร่วมกับอินเทลไมโครอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย และพันธมิตรของอินเทลฯ เข้ามาร่วมให้คำปรึกษาและออกแบบในภาพรวมทั้งระบบ รวมทั้งประมาณการลงทุนสำหรับโครงการพัฒนาอุบลราชธานีให้เป็นเมืองอัจฉริยะ Ubon Rachathani Toward Smart City อุบลราชธานี 2020 ส่วนการประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมนั้น บริษัทฯได้ทำความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท วิศรา กรุ๊ป ซึ่งเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์ทำงานระดับชาติ มีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 9 ทั้งนี้เพื่อให้มีความพร้อมในการประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมรองรับให้ได้ทันตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดแผนงานไว้สำหรับปี พ.ศ. 2563 อุบลราชธานี 2020 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะได้นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพิจารณาต่อไป
ธนัชชัย จึงเจริญ รายงาน