ยโสธร ปศุสัตว์ย้ำโรคอหิวาแอฟริกาในสุกรไม่ติดสู่คน
วันที่6 สิงหาคม 2562 นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรประธานการประชุมสัมมนาการเฝ้าระวังป้องกันและเตรียมความพร้อม รับมือการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เข้าใจรู้ทันร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ร่วมกับบริษัทซีพีเอฟประเทศไทยจำกัดและบริษัทในเครือ จัดการประชุมสัมมนาการเฝ้าระวังป้องกันและเตรียมความพร้อม รับมือการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เข้าใจรู้ทันร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจากทุกอำเภอ โรงชำแหละสุกรและผู้จำหน่ายเนื้อสุกรในพื้นที่จังหวัดยโสธร จำนวน 215 คน เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ณ โรงแรมกรีนปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
นายปัญญา มูลคำกาเจริญ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร กล่าวถึงการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ว่าเนื่องจากพบว่า มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว กัมพูชาและล่าสุดพบที่ประเทศพม่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ได้ตระหนักถึงการระบาดของโรคดังกล่าวซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายในธุรกิจการผลิตสุกรอย่างมหาศาล กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าประเทศไทยโดยเข้มงวดตรวจสอบ ควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกร การบังคับใช้กฎหมายโรงฆ่าสุกรเถื่อน การสำรวจและประเมินความเสี่ยงฟาร์มสุกรทุกฟาร์ม การตรวจสอบเขียงจำหน่ายเนื้อสุกร การสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรให้มีการเข้มงวดการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในทุกพื้นที่ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับอาการ ของสุกรที่ติดโรคอหิวาต์แอฟริกาจะแสดงอาการไข้สูง นอนสุมกัน มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามใบหู ลำตัว พื้นท้อง ไอหอบและแท้ง โรคนี้ป่ายแล้วตาย100เปอร์เซ็นต์ ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษา เชื้อดรคนี้มีความคงทนในสภาวะอากาศภูมิอากาศเนื่องจากมีเกราะป้องกันถึง 2 ชั้น และที่สำคัญไม่ติดคน ซึ่งจังหวัดยโสธรได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ ได้แก่การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรถึงความร้ายแรงของอาการแนวทางการป้องกันแก่ประชาชน เร่งรัดขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประเมินความเสี่ยง จัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสุกรและหมูป่า การตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
และย้ำกับประชาชนผู้บริโภคเนื้อสุกรอย่าตื่นตระหนกเพราะโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ติดสู่คน แต่ประชาชนควรบริโภคเนื้อสุกรที่ปรุงสุกเท่านั้น สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องดูแลระมัดระวังไม่ให้เชื้อโรคเข้าฟาร์มต้องมีระบบป้องกันแบบชีวภาพและที่สำคัญห้ามนำอาหารที่มีส่วนประกอบของสุกรไปรับประทานในฟาร์มหรือเป็นอาหารของสุกร
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ภาพ/ข่าว สมัย คำแก้ว ทีมข่าว ยโสธร รายงาน