อธิบดี สถ. ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนอาหารกลางวันคุณภาพ เพื่อส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพเด็กไทย สืบสาน ต่อยอด การดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เด็กไทยแก้มใส ขยายผลสู่โรงเรียนในสังกัด อปท. ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเพชรน้ำหนึ่ง สำนักงานเทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประกาศนโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย “การขับเคลื่อนอาหารกลางวันคุณภาพ เพื่อส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพเด็กไทย สืบสาน ต่อยอด การดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เด็กไทยแก้มใส ขยายผลสู่โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ” ในพิธีประกาศนโยบายและลงนามความร่วมมือการพัฒนาเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีสุขภาวะในจังหวัดตาก (เด็กไทยแก้มใสโมเดลจังหวัดตาก) โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ผอ.จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เด็กไทยแก้มใส นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
อธิบดี สถ. กล่าวประกาศนโยบายว่า โครงการเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ เป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการร่วมกับ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย และองค์กรทางวิชาการ เช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบเชิงปฏิบัติการในพื้นที่โรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศ โดยน้อมนำรูปแบบการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจร ตามรอยพระ-ยุคลบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาอาหาร โภชนาการและสุขภาพอนามัยในโรงเรียน มาขยายผลในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตอาหารเกษตรในชุมชน เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่มากที่สุดรองจากบ้าน ฉะนั้นโจทย์ใหญ่จึงต้องมองที่ชุมชนหรือท้องถิ่น เพราะเป็นฐานรากเกี่ยวเนื่องกับมิติและบริบทที่หลากหลาย
สำหรับโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ก็เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียน ที่ขาดสารอาหาร หรือทุพโภชนาการ และเพื่อพัฒนาร่างกายของเด็กนักเรียนให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรงและมีน้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้รับการถ่ายโอนงบประมาณอาหารกลางวันจากหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2542 และทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่ง กรมฯ ได้มีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน และ อปท. มีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน เพื่อทำการประเมินโดยร่วมมือกับจังหวัดในการดำเนินการกลั่นกรองและรายงานผล รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้ อปท. ถือปฏิบัติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนและคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
อีกทั้งให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค (NECTEC) จัดทำและพัฒนาขึ้นให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการ และความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมหรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา และได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน แต่หากสถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาในรูปแบบการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง ให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือชุมชน ได้แก่ ผู้ปกครอง กลุ่มแม่บ้าน ศิษย์เก่า อาสาสมัคร ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันช่วยสถานศึกษาดำเนินการ เช่น การตรวจสอบจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบ การจัดหาวัตถุดิบที่มีความสะอาด ปลอดภัยและมีคุณภาพที่ชุมชนหรือผู้ปกครองผลิตได้ นำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์นักเรียนเพื่อนำไปประกอบอาหาร ก็จะทำให้เกิดการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน “ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ” จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า กรมฯ ยังได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะการใช้งานโปรแกรมระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch) และโปรแกรมบันทึกและคัดกรองการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กสำหรับโรงเรียน (KidDiary School) ของสถานศึกษาในสังกัด อปท. ไปแล้วจำนวน 15 รุ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพของ ข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น ให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดอาหารกลางวันได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึง การเฝ้าระวังภาวะโภชนาการและการจัดอาหารกลางวันให้เหมาะสมกับวัยและสุขภาวะของเด็ก สามารถบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเด็กผ่านแพลตฟอร์ม KidDiary เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการเฝ้าระวังและคัดกรองสุขภาพ ด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินงานโครงการเด็กไทยแก้มใส
การที่เด็กๆ จะได้รับสารอาหารในแต่ละวันอย่างครบถ้วนนั้น ก็ขอให้ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ที่จะเป็นเหมือนหลักประกันว่า อนาคตของประเทศนี้จะอยู่รอดได้ ทางผู้ปกครองต้องช่วยกันให้ความสำคัญกับอีก 2 มื้อ ที่นอกเหนือจากมื้อกลางวันที่ทางผู้บริหาร อปท. และผู้บริหารสถานศึกษาดูแลอยู่ และต้องขอให้ช่วยกันสื่อสารสิ่งเหล่านี้กับผู้ปกครอง ให้ได้เข้าใจ และร่วมมือกันช่วยดูแลลูกหลานของเรา เพื่อให้เด็กๆ ได้รับสิ่งที่ดี และที่สำคัญ ต้องให้เด็กรู้จักทำการเกษตร รู้จักการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำผลผลิตมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และให้เด็กได้ช่วยทำอาหาร เพื่อให้เด็กมีวิชาชีพติดตัว สามารถช่วยเหลือตนเองได้ (หัตถศึกษา) ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราโชบายมอบไว้ให้
อธิบดี สถ. กล่าวต่อไปอีกว่า ในชีวิตจริงนั้น นอกจากการที่เด็กๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว เด็กๆ ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งนโยบายของ กรมฯ ที่เป็นเสมือนกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนนโยบาย “ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ” ก็เช่น โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทยผ่านการเล่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่มีนายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นผู้ออกแบบ มีลักษณะส่งเสริมให้เด็กพร้อมรับการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความรอบรู้ในสิ่งที่ใช้ได้จริง รวมถึงการเล่นตามรอยพระยุคลบาท มาปรับใช้กับสนามเด็กเล่น ให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ตามวัสดุที่มีในธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่น เช่น ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่มีในพื้นที่ ให้เด็กๆ ได้มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน
ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยได้มีพัฒนาการที่ดี เสริมสร้างสมาธิ สร้างความสามัคคี ปลูกฝังความเป็นจิตอาสา รู้จักการแบ่งปัน อดทน และให้อภัย เพราะเมื่อเด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ สมองจะได้รับการพัฒนาใน 6 มิติ สามารถคิดนอกกรอบสรรพวิชา ทั้งวิทย์ คณิต ภาษา ศิลปะ สังคม มาสร้างสรรค์ เชื่อมโยงดัดแปลงจนได้ความคิดสุดใหม่ที่เรียกว่า “ปัญญา” หรือ ด้านการบริหารจัดการขยะ กรมฯ ก็มุ่งปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พี่น้องประชาชน และเยาวชนตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ให้ทุกคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ตนเองและชุมชน
นโยบายต่างๆ ที่ยกตัวอย่างนี้ นอกจากจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การขับเคลื่อนงานของโครงการเด็กไทยแก้มใส มีความครอบคลุมทั้ง 8 องค์ประกอบหลักของการดำเนินงาน คือ การเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดการเรียนรู้ การจัดบริการสุขภาพ การจัดบริการอาหาร การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม การติดตามภาวะโภชนาการ และการพัฒนาสุขนิสัย พัฒนานักเรียนทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษาอย่างครบวงจรแล้ว ยังเป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีจิตสำนึก เพื่อ Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนเพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม และเติบโตเป็นคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพของประเทศชาติ และต้องขอขอบคุณผู้บริหาร อปท. ผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่านในที่นี้ ที่ได้ให้สำคัญ ได้ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจดูแลลูกหลานชาวตากอย่างดีมาตลอด และขอให้เด็กไทยแก้มใสโมเดล จังหวัดตากนี้ ได้ผลสำเร็จและขยายผลต่อไปสู่ อปท. อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย อธิบดี สถ. กล่าว