เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากที่มีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อออนไลน์ว่า สามารถวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2562 ได้นั้น กรมฯ ขอเรียนว่า การดำเนินการสอบของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) มีนโยบาย และวัตถุประสงค์ ให้การสอบเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม อย่างแท้จริงมาปฏิบัติงาน จึงได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ 17 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครสอบ การออกข้อสอบ การคัดเลือกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การคุมสอบ และการตรวจข้อสอบ ฯลฯ ดังนั้น จึงขอให้ผู้สมัครสอบแข่งขันทุกท่าน ได้เชื่อมั่นในกระบวนการสอบ และอย่าได้หลงเชื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้หวังผลประโยชน์ (ตกเบ็ด) จากผู้สมัครสอบแข่งขัน และร่วมกันดำเนินการทั้งทางกฎหมาย และทางสังคมกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อประโยชน์แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครสอบแข่งขันทุกท่าน และเมื่อมีเบาะแสว่ามีการกล่าวแอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งมาดังที่กล่าวถึงนั้น กรมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดำเนินการตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงโดยด่วนแล้ว ทั้งยังได้มีตั้งศูนย์อำนวยการสอบกลุ่มภาค/เขต และศูนย์อำนวยการสอบจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมแอบอ้างหรือหลอกลวงผู้สมัครสอบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการจะดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยมาตรการหนึ่งในการดำเนินการได้มีการกำหนดบุคคลในทางลับ เพื่อตรวจสอบในกรณีดังกล่าวไว้ด้วย
อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการสอบแข่งขันในปี 2562 นี้ คณะกรรมการการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการออกข้อสอบ การคัดเลือกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การคุมสอบ และการตรวจข้อสอบ ฯลฯ จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันว่า
1. การออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบ กสถ. ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการรั่วของข้อสอบ และมาตรฐานของข้อสอบ เช่น ข้อสอบแต่ละวิชาต้องใช้คณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้นอย่างน้อย 3 ท่าน ในการออกข้อสอบ และการออกข้อสอบจะต้องมีอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในการสอบ มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษาและคณบดีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือกข้อสอบที่เหมาะสม ส่วนการเก็บรักษาข้อสอบจะเก็บในห้องมั่นคง ซึ่งมีระบบการรักษาความปลอดภัยโดยมาตรการต่างๆ อย่างรัดกุมตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการออกข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบทั้งหมด ก็จะถูกเก็บตัวไว้จนกว่าการสอบแข่งขันจะแล้วเสร็จ
2. กรณีมีผู้แอบอ้างว่าจะช่วยให้ผู้สมัครสอบเป็นผู้สอบได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ขอให้ผู้สมัครสอบอย่าได้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แอบอ้างดังกล่าว และหากพบเห็นหรือทราบพฤติการณ์ที่จะมีการแอบอ้างดังกล่าว ขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หมายเลขโทรศัพท์ 0-2241-9014 หรือ 02-241-9000 ต่อ 3331 หรือ 081-174-3785 หรือ 081-174-3688 หรือเว็บไซด์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น www.dla.go.th โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการทางวินัย (กรณีเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น) ต่อผู้แอบอ้างนั้น
3. กรณีผู้สมัครสอบใช้วิธีการใดๆ (วิ่งเต้น) ที่นอกเหนือจากการใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองในการสอบ จะถือว่าผู้นั้นทุจริตในการสอบแข่งขัน ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้สมัครสอบผู้นั้นถูกปรับตกในการสอบครั้งนี้ และผู้สมัครสอบผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครสอบเข้ารับราชการใน อปท. อีก ไม่ว่าจะมีการรับสมัครสอบเมื่อใดก็ตาม
4. กรณีผู้สมัครสอบถูกหลอกลวงหรือแอบอ้าง เพื่อเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง (ฐานฉ้อโกง) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือเงินที่เสียไปคืนมา ตลอดจนเพื่อไม่ให้ผู้สมัครสอบรายอื่นตกเป็นเหยื่อผู้แอบอ้างหรือหลอกลวง
หากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะต้องรับโทษฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งจะถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ หรือ ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดแน่นอน อธิบดี สถ.กล่าว
ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2562