อธิบดี สถ.นำทีมจิตอาสาลงพื้นที่จ.สกลนครให้ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชาตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติ

อธิบดี สถ. นำทีมจิตอาสา ลงพื้นที่ จ.สกลนคร แบ่งบันให้ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชา พร้อมตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะจิตอาสา 904 หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่ 1/62 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้า งานโคกหนองนา โมเดล แปลงต้นแบบของเครือข่ายที่เริ่มพัฒนาพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมเสวนาเรื่องการพัฒนาพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และให้การเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาแก่สมาชิกจิตอาสาจังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร จำนวน 50 คน และประชาชนที่สนใจอีกจำนวน 100 คน รวม 150 คน โดยมี นายปัญญา มีธรรม ท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร นายไกรวรรณ์ อัครกุลและเครือข่ายกลุ่มคนมีใจ จ.สกลนคร นายประทิม โกษาแสง นายอำเภอสว่างแดนดิน นายสมัย โพธิทองดี รองปลัด อบจ.สกลนคร อปท.ในเขตพื้นที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ อบต.บ้านยา อ.หนองหาน จ.อุดรธานี สมาชิกเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่ ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เข้าร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้ เครือข่ายคนมีใจกสิกรรมธรรมชาติ ตําบลค้อใต้ อําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการระเบิดจากข้างใน มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นในการดำเนินการในเรื่องใดๆก็ตาม จะต้องรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้นๆ และลงไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้อยากจะมีส่วนร่วมในการดำเนินการโดยการไปประชุมชี้แจง ให้ทราบถึงเป้าหมายและวิธีการในการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของท้องถิ่นในการดำเนินในเรื่องต่างอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาจากจุดเล็ก สามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในจุดที่ใหญ่ขึ้น ดำเนินการทำตามลำดับขั้น โดยพิจารณาจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ก่อน ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพื่อให้การพัฒนาได้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญ อปท. ต้องให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่างๆ ทั้งนี้การมีส่วนร่วมถือเป็นหนึ่งในหลักการของธรรมาภิบาล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้นในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังที่เรียกกันว่า “ประชารัฐ” ในปัจจุบัน และต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

สำหรับโครงการสำคัญต่างๆ ที่ สถ. ได้ดำเนินการตามแนวทางศาสตร์พระราชาในการส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นนั้น อธิบดี สถ. กล่าวว่า ศาสตร์พระราชาถือเป็นปรัชญาหรือทฤษฎีที่ทรงคุณค่า ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม สภาพบุคคล และสถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่ง กรมฯ ก็ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นผ่านโครงการและกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ในโครงการ “โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS)” ที่มีแนวทางการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 5 มิติ คือ 1 ด้านสังคม 2 ด้านวัฒนธรรม 3 ด้านเศรษฐกิจ 4 ด้านสิ่งแวดล้อม และ 5 ด้านการเกษตร เพื่อให้สถานศึกษาสังกัด อปท. ได้มีการเสริมสร้างลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียน

หรือจะเป็นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ กรมฯ ได้มีโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้นทาง และบริหารจัดการขยะอันตรายอย่างถูกวิธี ตามแนวทาง 3 Rs คือ Reduce การลดการใช้การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็น Reuse การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำมาใช้ซ้ำ Recycle การดำเนินกระบวนการแปรรูปขยะเพื่อให้ได้สิ่งใหม่แล้วนำมาใช้ใหม่ โดยการผ่านกระบวนการประชารัฐในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการขยะของ อปท. ปลูกฝังให้ทุกคนเริ่มต้นจัดการขยะตั้งแต่ตัวเราเอง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “น้ำคือชีวิต : ศาสตร์พระราชาสู่แปลงเกษตรผสมผสานประชารัฐ ที่ส่งเสริม สนับสนุน อปท. ให้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในลักษณะประชารัฐ จัดหาที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ขนาด 5 – 10 ไร่ มาจัดทำแปลงเกษตรผสมผสานขนาดแปลงละ 1 – 2 งาน จัดหาแหล่งน้ำ และวางระบบ การนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตรผสมผสานได้อย่างเพียงพอ และให้ อปท. ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านคัดเลือกคนยากจน จำนวน 10 – 20 รายที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองโดยไม่ร้องขอความช่วยเหลือแต่ฝ่ายเดียว เข้าทำกินในแปลงที่ดินที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวหรือคนละ 1 – 2 งาน

โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำในระดับครัวเรือน บริเวณที่อยู่อาศัย ทำได้ง่าย ใช้งบประมาณไม่เยอะ ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นสามารถได้ประโยชน์ คือหาแหล่งที่อยู่ให้กับน้ำโดยการอัดน้ำลงในพื้นที่ของตนเอง เพื่อมิให้น้ำในพื้นที่ของตนเองหรือพื้นที่นั้นๆไหลไปรวม และสะสมเพิ่มปริมาณมาก เช่น (การเกิดน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก) ที่เกิดจากการสะสม ของน้ำหลายแห่งไหลมารวมกัน ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ ตามความต้องการได้ การทำบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดยังทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ดำเนินการ ที่มีความแห้งแล้ง และช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำบาดาล บ่อน้ำดื่มหนองน้ำสระทั่วไปให้มีปริมาณน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค

หรือแม้แต่โครงการโคก-หนอง-นา โมเดล ที่จะมีการจัดการเลือกวิธีการซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการดังกล่าว และจะได้ขยายผลการดำเนินการไปยังท้องถิ่นต่างๆโดยใช้ท้องถิ่นที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการต่อไป  ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างโครงการสำคัญบางส่วนที่ทางก กรมฯ ได้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งยังมีโครงการอื่นๆอีกมากมายที่ได้ดำเนินการในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้รวมถึงโครงการอยู่ในระหว่างที่จะดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาต่อไป

และจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” นั้น จึงขอให้จิตอาสาช่วยนำไปขยายผลต่อ โดยนำทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติให้เห็นผล เช่น เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบละคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่าง ๆ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่าง ๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน นั่นเอง อธิบดี สถ. กล่าว

ภายหลังการพูดคุยร่วมกัน มีกลุ่มจิตอาสาและประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอสว่างแดนดิน ให้ความสนใจในการดำเนินการจัดทำ โคก หนอง นา โมเดล จำนวนกว่า 50 ราย แต่ติดขัดไม่มีงบประมาณในการจัดจ้างรถแบ็คโฮ ทางด้าน อธิบดี สถ. จิตอาสา 904 หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่ 1/62 จึงได้ประสานงานกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีความยินดีที่จะช่วยนำรถแบ็คโฮมาดำเนินการให้โดยเร็ว นอกจากนี้ นายไกรวรรณ อัครกุล ประธานกลุ่มคนมีใจสกลนครเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ก็ได้ขอให้ทาง อบจ.สกลนคร ช่วยดำเนินการจัดสร้างอาคารอเนกประสงค์ เพื่อบริการประชาชนที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ให้เป็นการส่งเสริมการคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน เผื่อแผ่ความรู้ให้คนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้ด้วย พร้อมดูแลบ้านพักแก่ผู้เข้ารับการอบรม ในส่วนอาคารเอนกประสงค์นั้น ก็ได้มอบหมายให้ทางท้องถิ่นจังหวัดดำเนินการช่วยเหลือจัดทำเอกสาร เพื่อขอความช่วยเหลือจาก อบจ.สกลนคร ต่อไป ส่วนบ้านพักนั้นให้ประสานเจ้าของบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ใช้เป็นที่พัก อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาด สอดแทรกการปลูกฝังจิตสำนึกในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยอาจให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนภายในครัวเรือน และยังได้มีรายได้เสริมในลักษณะโฮมสเตย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย