พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2566
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 08.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2566 ณ อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน/สำนัก อาจารย์ ข้าราชการ นายกองค์การนักศึกษา นักศึกษา และนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน, ประกาศศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประจำปีพุทธศักราช 2567 แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน และประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น ด้านการสอน ประจำปีพุทธศักราช 2567 แก่อาจารย์ 3 คน แล้วพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต, ปริญญามหาบัณฑิต และปริญญาบัณฑิต รวม 2,796 คน
จากนั้น พระราชทานพระราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า “ในการทำงานสร้างสรรค์ความสำเร็จ และความเจริญนั้น นอกจากจะต้องมุ่งกระทำแต่เฉพาะการงานที่สุจริต และเป็นประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดโทษเสียหายทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่นแล้ว บัณฑิตควรตระหนักด้วยว่า คนเราแม้จะมีความรู้ความสามารถสูง แต่ก็ไม่อาจสร้างความสำเร็จทุกสิ่งได้โดยลำพัง หากต้องได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากผู้อื่นฝ่ายอื่นอย่างพร้อมเพรียงด้วย บัณฑิตจึงต้องมีความเฉลียวฉลาดในการประสานสามัคคีประสานประโยชน์กับทุกคนทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ในโอกาสที่แต่ละคนสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต กำลังจะออกไปประกอบอาชีพการงาน จึงควรจะได้นำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้กิจการงานที่ทำดำเนินลุล่วง สำเร็จผลเป็นประโยชน์ที่แท้ คือ เป็นความเจริญมั่นคงแก่ตน แก่งาน และแก่ประเทศชาติของเรา”
ต่อจากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคคล เฝ้าทูลละอองพระบาท ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และอาจารย์ดีเด่น ด้านการสอน ประจำปีพุทธศักราช 2567 ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลงานศิลปะ และหนังสือ, นักศึกษาทุนการศึกษาในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, ทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, ทุนเฉลิมราชกุมารี และทุนการศึกษาโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดุษฎีนิพนธ์, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กราบบังคมทูลรายงานผลการจัดโครงการเพื่อพัฒนาทักษะนักเรียน และครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
หลังจากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหาร ซึ่งร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา นับแต่ปี 2538 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยตากจิตรลดา กล้วยหนึบจิตรลดา และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนร่วมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และชุมชน สร้างอาชีพ และธุรกิจชุมชน ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ “SUFIH” เพื่อบูรณาการศาสตร์ และศิลป์ ดำเนินงานตั้งแต่ชุมชน จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งนิทรรศการการวิจัย และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี พัฒนาย่านสร้างสรรค์ 8 อำเภอ ภายใต้แนวคิด “เพ็ชร์มีดีบุรีสร้างสรรค์” และเป็นการพัฒนาเพื่อ “ขยายผลความยั่งยืนของเมืองสร้างสรรค์จังหวัดเพชรบุรี สู่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบระดับอำเภอ” หลังประสบผลสำเร็จในการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และยูเนสโกประกาศให้จังหวัดเพชรบุรี เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี 2564 ในการนี้ ทอดพระเนตรการสร้างสรรค์ผลงานตอกกระดาษของครูพิทยา ศิลปศร สำหรับประดับตกแต่ง เช่น เมรุ โกศ โดยยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
*****************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ภาพ/ข่าว