“อาลัยรัก” ชรินทร์ นันทนาคร โคลีเซี่ยมฯ มอบให้อัลบั้ม “เพลงรักคู่แผ่นดิน”

“อาลัยรัก” ชรินทร์ นันทนาคร โคลีเซี่ยมฯ มอบให้อัลบั้ม “เพลงรักคู่แผ่นดิน” ผลงานบันทึกเสียงร้องครั้งสุดท้าย “นักร้องเสียงระทม”
……………………………………………………..
ความคืบหน้าภายหลังวงการบันเทิงสูญเสียศิลปินแห่งชาติ “อาฉึ่ง” “ชรินทร์ นันทนาคร” จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา สิริอายุ 94 ปี โดยถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา หลังเข้ารับการรักษามานานหลายเดือน เมื่อกลางดึกของวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ

เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลงลูกกรุง และวงการบันเทิง ต่อการจากไปของ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดพิธีสวดพระอภิธรรมจนถึงวันอังคารที่ 27 สิงหาคมนี้ ก่อนที่จะเก็บร่างไร้วิญญาณ เพื่อรอพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป
สำหรับพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา มีบุคคลในวงการการเมืองให้เกียรติมาร่วมไว้อาลัย เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา, นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และผุสดี วงศ์กำแหง อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี คู่ชีวิต ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ (ผู้ล่วงลับ)ฯลฯ


โดยมี เพชรา เชาวราษฎร์ คู่ชีวิตของชรินทร์ นันทนาคร ให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ขณะที่ปัญญชลี เพ็ญชาติ บุตรสาว และ แหวนแหวน-ปวริศา เพ็ญชาติ หลานสาว ก็ยังคงมาช่วยดูแลจัดการงานไว้อาลัยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
โดยในพิธีสวดพระอภิธรรมในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2567;สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเจ้าภาพ นำโดย นายธานินทร์ อินทรเทพ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิก อาทิ จินตนา สุขสถิตย์ (ศิลปินแห่งชาติ), วินัย พันธุรักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ), รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส (ศิลปินแห่งชาติ), นฤพนธ์ ดุริยะพันธ์, ศรีไสล สุชาตวุฒิ, ชรัมภ์ เทพชัย, ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล,
โฉมฉาย อรุณฉาน, อุมาพร บัวพึ่ง, อุไรวรรณ ทรงงาม, วนิดา นภาพร, อรวี สัจจานนท์, วิภาส รวิภาส และพรพิมล มั่นฤทัย ที่ปรึกษาสมาคมฯ ก่อนที่จะมอบเงินจำนวน 20,000 เป็นการช่วยเหลือในฐานะ ชรินทร์ นันทนาคร เป็นสมาชิกของสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยฯ
ส่วนพิธีสวดพระอภิธรรม ในวันที่ 23 สิงหาคม บริษัทสหมงคลฟิล์ม ร่วมกับ บริษัทโคลีเซี่ยม อินเตอร์ กรุ๊ป, บริษัทซูเลียน (ประเทศไทย) จำกัด และชมรมรักษ์เพลงชรินทร์ ร่วมเป็นเจ้าภาพ มีศิลปินนักแสดง และบุคคลวงการบันเทิงมาร่วมไว้อาลัย อาทิ เตือนใจ เตชะรัตนประเสริฐ บอสใหญ่สหมงคลฟิล์ม, พรพิมล มั่นฤทัย, ชัยยงค์ มั่นฤทัย สองผู้บริหารโคลีเซี่ยม อินเตอร์ กรุ๊ป, ดร.ปิยะวัฒน์ จุลล์จักรวงศา ประธานบริษัทซูเลียน (ประเทศไทย) จำกัด, สรยุทธ สุทัศนะจินดา, อรัญญา นามวงศ์, อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ, เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร, ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง, อีฟ-พุทธิดา ศิระฉายา, อลิศ-ธนัชศลักษณ ฮัดสัน,, รัญญ์ เมืองลพ, ชัชวาล คล้องช้าง, น้าโย่ง เชิญยิ้ม ฯลฯ
โดยทางบริษัทโคลีเซี่ยม อินเตอร์ กรุ๊ป ยังได้มอบของที่ระลึก อัลบั้ม “เพลงรักคู่แผ่นดิน” ผลงานบันทึกแผ่นเสียงครั้งสุดท้ายของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่ได้รวบรวมสุดยอดผลงาน ของครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ มาบันทึกเสียงร้อง และดนตรีใหม่ทั้งหมด พร้อมศิลปินรับเชิญนันทิดา แก้วบัวสาย, อรวี สัจจานนทร์, ธีรนัยน์ ณ หนองคาย, ดวงพร พงศ์ผาสุก, อลิส ธนัชศลักษณ์ ฮัดสัน พร้อมลายเซ็นของชรินทร์ นันทนาคร มอบให้กับแขกผู้ทรงเกียรติ
สำหรับ ชรินทร์ นันทนาคร (เกิด 1 กุมภาพันธ์ 2474) เป็นศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 สมรสครั้งที่สองกับนางเอกภาพยนตร์ เพชรา เชาวราษฎร์

ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง

ผลงานของชรินทร์ นันทนาคร ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลง “เรือนแพ”, “มนต์รักดอกคำใต้”, “หยาดเพชร”, “อาลัยรัก”, “ทาษเทวี”, “เด็ดดอกรัก”, “ผู้ชนะสิบทิศ”, “ที่รัก”, “นกเขาคูรัก”, “แสนแสบ”, “ท่าฉลอม”, “สักขีแม่ปิง”, “ทุยจ๋าทุย”, “เพราะขอบฟ้ากั้น” ฯลฯ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง “อาลัยรัก” ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง “รักข้ามคลอง” ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ “แผ่นดินแม่” ภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม.
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “นันทนาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง” ชรินทร์ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541