ยุติธรรมจังหวัดนครปฐมจับมือภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมแก้ไขหนี้สินประชาชนในพื้นที่

ยุติธรรมจังหวัดนครปฐมจับมือภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมแก้ไขหนี้สินประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างการรับรู้ด้านกฎหมาย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินอย่างยั่งยืน

วันที่ 17 กรกฏาคม 2567 ที่ หอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมแก้ไขหนี้สินประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างการรับรู้ด้านกฎหมาย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินอย่างยั่งยืน  โดยมี นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวต้อนรับ  และมี นางถนอมพรรณ เลิศไกร ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวรายงาน

จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐมร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี จัดงาน”มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม”สร้างการรับรู้ด้านกฎหมายและเสริมสร้างวินัยทางการเงิน พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ร่วมพูดคุยแก้ไขหนี้สินอย่างยั่งยืน

รวมทั้งมอบเงินเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559จำนวน 3ราย เงินเยียวยา 756,731บาท  และพิธีมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคป ระชาชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จำนวน 22ศูนย์

คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ90 ของ GDP ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนระดับของหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่าร้อยละ 61 ซึ่งมีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดทางด้านการคลัง และการบริหารประเทศในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน และความยากลำบากให้กับสังคมไทยรัฐบาลจึงเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อต้องการลดภาระเกษตรกรด้วยการพักนี้เกษตรกรตามเงื่อนไข และคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประดองภาระหนี้สิน และตันทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชน ที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการ ฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน กระทรวงยุติธรรม เห็นว่าเพื่อให้นโยบายด้านการแก้ไขหนี้ของประชาชนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้กำหนดจัด “โครงการมหกรรมแก้หนี้สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แทนการฟ้องคดี สร้างการรับรู้และยอมรับเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี สถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ดำเนินการไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาหนี้สินก่อนฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562และหลังศาลพิพากษาตามระเบียบกรมบังคับคดี

ภายในงานมีกิจกรรมการเสวนา การไกล่เกลี่ยหนี้โดยสถาบันการเงินต่างๆซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแก้ไขหนี้สิน การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและการไกล่เกลี่ยหลังศาลมีคำพิพากษา เข้ารับคำปรึกษาเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้สิน กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินสำหรับประชาชน : หนี้แก้ได้ ถ้าวางแผนการเงินอย่างถูกวิธีการจัดงานในครั้งนี้ วันที่ 17กรกฏาคม 2567 ตั้งแต่เวลา08.30 น. เป็นต้นไป ณ หอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยภายในงานได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมที่ลงทะเบียนแก้ไขหนี้สิน การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และการไกล่เกลี่ยหลังศาลมีคำพิพากษา การให้คำปรึกษากฎหมาย รวมถึงมีการเปิดเวทีเสวนาและบรรยายความรู้กฎหมายในหัวข้อต่าง ๆ  จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนราชการและสถาบันการเงินในพื้นที่จังหวัดนครปฐมจำนวน 34 หน่วยงาน อีกด้วย