สิงห์บุรี จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช

จังหวัดสิงห์บุรี  จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช เนื่องในอภิลักขิตสมัย 200 ปี นับแต่ทรงพระผนวช

วันที่ 6 ก.ค. 67 เวลา 13.00 น. ณ วัดโบสถ์ พระอารามหลวง ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี พระธรรมวชิรกวี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี มหานิกาย พระสิงหคณาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ธรรมยุติกนิกาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสุเมธ ธีรนิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช เนื่องในอภิลักขิตสมัย 200 ปี นับแต่ทรงพระผนวช ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยมีนายวราดิศร อ่อนนุชพร้อมนายปรีชา ดิลกพรเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีทั้งสอง นายอำเภออินทร์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจและประชาชนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

 


ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะธรรมยุตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ในโอกาสที่ทรงพระผนวช ครบ 200 ปี เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันจะนำไปสู่ความตระหนักในคุณค่า ความศรัทธาที่มั่นคง และความสามัคคีในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักษา สืบสาน และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป


อีกทั้ง เพื่อน้อมเกล้ารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสร้างคุณูปการหาประมาณมิได้ต่อราชอาณาจักรไทยและพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาแห่งแผ่นดินไทย ทรงเข้าถึงพระพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างครบถ้วนก่อนเสด็จเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงตระหนักถึงความจริงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งมนุษยนิยม เหตุผลนิยม ปฏิบัตินิยม และมัชฌิมนิยม ทั้งยังเป็นรากฐานแห่งวิทยาศาสตร์ทั้งปวง เพื่อขยายผลแห่งการปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงตั้งนิกายสงฆ์ใหม่ขึ้น ชื่อว่า”ธรรมยุติกนิกาย” หมายถึง “คณะสงฆ์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย” มีวัดบวรนิเวศวิหารเป็นศูนย์กลางมาจนปัจจุบัน