นายอำเภอลำลูกกา ทำฝัดข้าว “ปิ่นแก้ว” เก็บรักษาเพื่อนำไปขยายพันธุ์ ในโคก หนอง นา
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่19 ก.พ.67 ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอลำลูกกา พร้อมด้วย นางสาวสุณี ภิรมย์รักษ์ พัฒนาการอำเภอลำลูกกา นายมนต์ชัย น้อยจันทร์ กำนันตำบลลำลูกกา ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงคำพร้อย และตำบลบึงทองหลาง ร่วมกันทำฝัดข้าว พันธุ์ “ปิ่นแก้ว” ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงนา ของ โคก หนอง นา สัปปายะและรมณียสถาน ศูนย์ปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช ( อมฺพรมหาเถร) บ้านคลองซอยที่ 9 หมู่ที่ 1 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ที่ได้ดำเนินการปลูกไว้เพื่อนำมาขยายพันธุ์ ปลูกลงแปลง ของ โคก หนอง นา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ และอาจนำพันธุ์ที่ได้นั้นให้กับผู้สนใจนำไปปลูกเป็นอาชีพได้ต่อไป
สมัยก่อนการฝัดข้าวจะกระทำภายหลังจากตำข้าวจนเปลือกกะเทาะออกจากเมล็ดเรียบ ร้อยแล้ว เป็นการแยกเมล็ดข้าวและเปลือกข้าวออกจากกัน โดยตักข้าวที่ตำแล้วในครกออกมาใส่ในกระด้ง เพื่อฝัดเปลือกข้าวออกไป กระด้งเป็นเครื่องจักสานภูมิปัญญาไทย มาถึงปัจจุบันมีเครื่องมือแยกข้าวเรียกว่าสีฝัด เป็นเครื่องมือการเกษตรของชาวนา สำหรับแยกข้าวเปลือกจากข้าวลีบ เศษฟางและผงฝุ่น เรียกชื่อต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สีโบก เครื่องวีข้าว ไม่ปรากฎหลักฐานบันทึกไว้ว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ครั้งแรก แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเครื่องใช้ที่พ่อค้าชาวจีนนำมาขายแก่ชาวนา สีฝัดเป็นเครื่องเป่าลมทีมีชุดใบพัดหลายใบ ตัวเครื่องทำด้วยไม้ผสมแผ่นสังกะสี และเครื่องเหล็ก มีลักษณะเป็นกล่อง มีขา 4 ขา ด้านหลังกลมมน อีกด้านหนึ่งโปร่ง ด้านบนมีที่สำหรับใส่ข้าวเปลือกให้ไหลลงสู่ตระแกงเหล็กลักษณะห่างๆ ส่วนหน้ามีใบพัดต่อกลไกออกมาด้านข้างมีด้ามสำหรับหมุนด้วยมือ หลักการทำงานของสีฝัด เมื่อหมุนใบพัดก็จะเกิดลม ลมจะพัดเศษผงและข้าวลีบออกไปด้านหลัง ข้าวดีที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกด้านหน้าสีฝัด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สีฝัดในปัจจุบันยังใช้ในบางท้องแต่เหลือไม่มากและไม่ค่อยมีการผลิตขึ้นใหม่ ที่ใช้อยู่อาจดัดแปลงติดมอเตอร์แทนใช้แรงคนในการหมุนใบพัด บางท้องที่้เลิกใช้แล้ว เนื่องจากใช้รถเกี่ยวข้าวสามารถแยกเมล็ดข้าวและฟางออกในคราวเดียวกัน เด็กรุ่นหลังๆเห็นสีฝัดจึงอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร