กรุงเทพมหานคร ม.เกษตรศาสตร์จัดประชุมเปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดประชุมเปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ
โครงการส่งเสริมการผลิตไม้ที่มีคุณภาพโดยเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่นๆ ในเขตร้อน
Promoting Quality Timber Production in Smallholders and Community-based Teak and Other Valuable Species Plantations in the Tropics (PP-A/54-331A)

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ เปิดโครงการส่งเสริมการผลิตไม้ที่มีคุณภาพโดยเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่น ๆ ในเขตร้อน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชุมชน และสนับสนุนนโยบาย Net Zero ในAsia-Pacific และ West Africa

เมื่อวันพุธ ที่ 11 ตุลาคม 2566 นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดโครงการการส่งเสริมการผลิตไม้ที่มีคุณภาพโดยเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่นๆ ในเขตร้อน (Promoting Quality Timber Production in Smallholders and Community-based Teak and Other Valuable Species Plantations in the Tropics) หรือ ITTO-BMEL Teak Project Phase II ณ โรงแรมรามา การ์เดน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจาก โครงการ ITTO-BMEL Teak Project Phase I โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – เดือนกันยายน 2569 มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการผลิตไม้คุณภาพสูงจากสวนไม้สักและไม้มีค่าขนิดอื่นๆ ที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาตะวันตก โดยการส่งเสริมนโยบายการปลูกสวนป่าไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่นๆ จากกล้าไม้ที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติด้านวนวัฒนวิทยาที่ดีมาใช้ในการจัดการสวนป่า การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้และการจัดการสวนป่าที่ยาวนานขึ้น (long rotation) เพื่อให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพดีขึ้นและมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (value-added products) ที่ตรงความต้องการของตลาด โดยมีแหล่งที่มาของไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และพัฒนากลไกการเข้าถึงตลาด ซื้อ-ขาย คาร์บอนซึ่งเป็นแหล่งรายได้เสริมจากการปลูกต้นไม้ (passive income) สอดคล้องกับ เงื่อนไขมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่สินค้าที่เข้าไปขายในสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลประเทศไทยในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนนร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ITTO-BMEL Teak Project Phase II ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกระทรวงเกษตรและอาหาร สหพันธรัฐเยอรมัน (BMEL) จำนวน 1.4 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีพื้นที่โครงการครอบคลุม 5 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศโตโก ในแอฟริกาตะวันตก โดยมีคณะวนศาสตร์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการระดับภูมิภาค โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการผลิตไม้คุณภาพสูงจากสวนไม้สักและไม้มีค่าขนิดอื่นๆ ที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในทวีปเอเชียแปซิฟิกและทวีปแอฟริกาตะวันตก และสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อการปลูกไม้สักและไม้ป่ามีค่าอื่นๆ โดยเกษตรกรรายย่อยอย่างยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารกรมป่าไม้ ผศ. ดร. กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ ศ.ดร. ยงยุทธ ไตรสุรัตน์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ Mr. Stephan Wagner ผู้แทนกระทรวงเกษตรและอาหาร สหพันธรัฐเยอรมัน (BMEL) Dr. Tetra Yanuariadi ผู้แทนจากองค์การป่าไม้นานาชาติเขตร้อนนานาชาติ (ITTO) ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบ Zoom Meeting โดย ศ.ดร.ยงยุทธ ไตรสุรัตน์ ผู้จัดการโครงการ ได้แนะนำวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และผลลัพธ์ที่คาดหวังของโครงการ ดร. สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการป่า กรมป่าไม้ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Wood-based economy towards carbon neutrality and livelihood improvement (การส่งเสริมเศรษฐกิจไม้ เพื่อมุ่งสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตราษฎร)” และมีการรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และในวันที่ 12-13 ตุลาคม 2566 มีการเดินทางไปศึกษาดูงานการปลูกป่าและประชุมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเกษตรกรรายย่อยในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
********************************************************
วิวรรธน์ ยั่งยืนเตชานนท์