มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดงานเฉลิมฉลอง “คเนศจตุรถี” ครั้งแรก
ภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และกองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานคเนศจตุรถี ครั้งที่ 1 เพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลวันคเนศจตุรถีประจำปี 2566 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
วันไหว้พระพิฆเนศ หรือวันคเณศจตุรถี เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองพระพิฆเนศที่สำคัญอีกเทศกาลหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในการประสูติขององค์พระพิฆเนศ ซึ่งมีความเชื่อว่าพระองค์ท่าน เทพแห่งความสำเร็จทั้งปวงจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพร ประทานความโชคดี ปลดหนี้ ช่วยเหลือมนุษย์ โดยเทศกาลนี้ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียว
ในการจัดงานคเนศจตุรถี ครั้งที่ 1 ของมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-21 กันยายน 2566 โดยภายในงานมีพิธีอารตี บูชาองค์พระพิฆเนศตามประเพณีฮินดู โดยได้เชิญบัณฑิต พรหมานันทะ ทวิเวที พราหมณ์ชาวอินเดียเป็นผู้นำประกอบพิธี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดเสวนาและปาฐกถา การจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกจากร้านค้า และในวันสุดท้ายในการจัดงานมีพิธีโหมกรรม ก่อกูณฑ์บูชาไฟ ก่อนที่จะมีการอัญเชิญองค์พระพิฆเนศขึ้นรถกะบะ ทะเบียน บห-6992 นครปฐม เพื่อทำการแห่รอบมหาวิทยาลัย พร้อมไปด้วยการเปิดเพลงบนรถแห่ และขบวนนักศึกษาจากคณะวิชาต่าง ๆ เดินร่วมขบวนไปตลอดเส้นทางเป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงนำองค์พระพิฆเนศขึ้นเสลี่ยงและเดินขบวนข้ามสะพานสระแก้ว สระน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนที่จะทำพิธีส่งพระพิฆเนศกลับสู่เทวโลก ลอยองค์ท่านลงสู่ “สระแก้ว” เพื่อเป็นอันสิ้นสุดการจัดงาน
โดยในการจัดงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดสร้างพระบาทเทวรูปพระพิฆเนศวร์ที่ปั้นเป็นองค์สมบูรณ์ตามแบบอย่างประเพณีในอินเดีย เพื่อนำมาเป็นองค์ปั้นโดยนายวายุพัด รัตนเพชร นักศึกษาชั้นปี 5 คณะจิตรกรรม สาขาวิชาเอกประติมากรรม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวรตั้งแต่เริ่มต้น โดยตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร คือ พระพิฆเนศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ทั้งยังเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการและการประพันธ์ โดยเริ่มประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวในปีพุทธศักราช 2494 และยังคงใช้จวบจนถึงปัจจุบัน
มนตรี ชูถนอม /ข่าว