อ่างทอง จัดพิธีขบวนแห่นาคด้วยเรือโบราณ (เจ้าสัว) ราคานับล้านบาท

อ่างทอง จัดพิธีขบวนแห่นาคด้วยเรือโบราณ (เจ้าสัว) ราคานับล้านบาท
สืบสานประเพณี นายชาญชาติ นางอุไร บุญประดับ ผู้ประกอบการ เจ้าของบริษัท โรงงานทำอิฐ ม.อ.ท. 1 เมืองอ่างทอง
จัดพิธีอุปสมบท นายปริญญา (ป๊อป ) บุญประดับ (บุตรชาย ) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ พัทธสีมา พระอุโบสถวัดป่าโมกวรวิหาร ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยจัดขบวนแห่ด้วยเรือโบราณ (เจ้าสัว) จำนวน 10 รำ จัดเป็นริ้วขบวนตกแต่งเรือโบราณ และผู้ร่วมขบวนโดยนั่งบนเรือ (เจ้าสัว )แต่งตัวย้อนยุคให้เข้ากับเรือโบราณอย่างสวยงาม โดยมีผู้ร่วมขบวนนับพันคน ยาวเหยียด ผ่านตลาดเก่าป่าโมกไปจนถึงวัดป่าโมกวรวิหาร (พระอารามหลวง) ระยะทาง 2 กิโลเมตรขบวนแห่ใช้เวลานับชั่วโมงเศษประชาชนออกมาชมขบวนแห่ที่แปลกตา และสวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ถือว่าเป็นขบวนแห่นาคที่แปลกตา และยิ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดอ่างทอง


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายชาญชาติ บุญประดับ (เจ้าภาพ ) และเป็นเจ้าของเรือโบราณ (เจ้าสัว) ทั้ง 10 รำ กล่าวว่าเรือทั้งหมดตนได้มานั้นจากการที่ตนมีใจรักอยากได้เรือแบบนี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก เคยเห็นเรือแบบนี้ตามบ้านของผู้มีอันจะกินเท่านั้น เพราะสมัยก่อนนั้นการสัญจรไปมา ค้าขาย ใช้ทางน้ำเป็นหลักเพราะถนนหนทางยังไม่เจริญเหมือนยุคนี้ ฉะนั้นการสัญจรส่วนใหญ่จะใช้เรือเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่เรือรับ-ส่งสินค้า เรือเมล์ เรือพ่วง เรือโยง (ลากจูง) และเรือที่ประชาชนทั่วไปที่มีวิถีชีวิตบ้านเรือนปลูกริมแม่น้ำ โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทอง มีแม่น้ำสายหลัก 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ฉะนั้นทุกบ้านจะมีเรือชนิดต่างๆกันไว้ใช้ ส่วนเรือ (เจ้าสัว)

เรือชนิดนี้จะเป็นเรือที่ติดเครื่องยนต์ ตกแต่งสวยงามสำหรับผู้มีอันจะกิน (คนมีเงินในยุคก่อน) ใช้เป็นเรือส่วนตัว ในการเดินทางไปทางน้ำ ในยุคนั้นเรือชนิดนี้คนที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น ที่จะมีได้ เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ตนก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่แอบมองและอยากมีในยุคนั้น แต่ก็ไม่มีโอกาส แต่สัญญาว่าสักวันตนจะต้องมีเรือ (เจ้าสัว ) ให้ได้ถึงแม้ว่าจะหมดยุคในการสัญจรไป-มาทางน้ำแล้วก็ตาม แต่ตนก็ยังตั้งใจที่จะสะสมหรืออนุรักษ์ เรือเก่า เรือโบราณต่างๆ เก็บไว้ให้ลูกหลาน และเยาวชนคนรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาและค้นคว้าถึงความเป็นมาในสมัยหรือแต่ละยุคต่อไป
สาทร คชวงษ์ รายงาน