สุพรรณบุรี อบจ.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในอปท.ระดับชาติ ครั้งที่ 7 ยิ่งใหญ่
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในอปท.ระดับชาติ ครั้งที่ 7 “ท้องถิ่นยุคใหม่ ประชาชนมั่นใจ การแพทย์แผนไทยได้มาตรฐาน อบจ.สุพรรณบุรี เป็นเจ้าภาพจัดยิ่งใหญ่
ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 7 “ท้องถิ่นยุคใหม่ ประชาชนมั่นใจ การแพทย์แผนไทยได้มาตรฐาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2566 มีนายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีในฐานะนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน มีผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิและนิติ บุคคลต่าง ๆ เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนเข้าร่วมประชุม
เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติได้จัดมาเป็นประจำทุกปี ในปีนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเจ้าภาพหลัก จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “ท้องถิ่นยุคใหม่ ประชาชนมั่นใจ การแพทย์ฉุกเฉินไทยได้มาตรฐาน” คณะกรรมการผู้จัดได้เสนอรูปแบบการพัฒนาคุณภาพบริการ การมีส่วนร่วมปฏิบัติการของภาคีเครือข่ายเพื่อการเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ที่กำหนดในแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2555
ดังนั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบมาตรฐานการดำเนินงาน พร้อมกระตุ้นให้มีหน่วยปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานพร้อมให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชม. ในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาตั้งแต่ต้น ได้มาบรรยายและเสนอรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมทั้งแสดงผลงานการพัฒนาในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ประสบผลสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับ และชี้ให้เห็นว่าหลังจากมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 คนไทยจะได้รับประโยชน์อย่างไรภายใต้กฎหมายฉบับนี้
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นเพื่อเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคต ซึ่งทุกองค์กรพร้อมที่จะนำนโยบายและแนวคิดที่ได้จากการประชุมไปพัฒนาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินในและนอกเขตเมือง ได้มีโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกับประชาชนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะได้นำรูปแบบการดำเนินงานที่สังคมให้การยอมรับไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศต่อไป
ภายในงานมีการจัดบูธนิทรรศการ มีการสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติอุบัติภัย พร้อมการจัดแสดงอุปกรณ์กู้ชีพ กู้ภัย และให้ความรู้จาก หน่วยงานกู้ชีพ กู้ภัย ที่เดินทางมาร่วมงานจากทั่วประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่พร้อมเข้าให้การสนับสนุนหากเกิดการณ์ขึ้นอีกด้วย
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี