สุพรรณบุรี  เกษตรนาแปลงใหญ่สุพรรณรวมตัวตั้งธนาคารฟางข้าวลดการเผาเพิ่มรายได้

สุพรรณบุรี  เกษตรนาแปลงใหญ่สุพรรณรวมตัวตั้งธนาคารฟางข้าวลดการเผาเพิ่มรายได้
เกษตรกรนาแปลงใหญ่ บ้านท่ามะนาว ตำบลยางนอน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี รวมตัวจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่(ข้าว) ตำบลยางนอน ตั้งธนาคารฟางข้าว เพื่อลดการเผาฟาง ลดการสร้างมลพิษ หยุดทำลายดิน ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มผลกำไร
ที่บ้านท่ามะนาว ตำบลยางนอน อำเภอเดิมบางนางบวช วันที่ 21 มิถุนายน 2566 นางปุญชรัศมิ์  ปลั่งดี เกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช  นายพีระภ์  โตจิตร เกษตรตำบลยางนางนอน ได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่(ข้าว) ตำบลยางนอน ที่รวมตัวกันตั้งธนาคารฟางข้าว เพื่อลดการเผาฟาง ลดการสร้างมลพิษ หยุดทำลายดิน ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มผลกำไร โดยมีนายชำนาญ สวนดอกไม้ อายุ 44 ปี ประธานกลุ่ม นายอามร มะนาวหวาน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 รองประธาน และ นายชนัญญู สวนดอกไม้  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5  ผู้มีอำนาจทำการแทน  เกษตรตำบลยางนางนอน เดินทางไปดูสมาชิก กำลังอัดฟางข้าวอยู่ในแปลงนา ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนอบอ้าว
สอบถามนาย นายชนัญญู สวนดอกไม้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ในฐานะผู้มีอำนาจทำการแทน  เล่าว่าวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่(ข้าว) ตำบลยางนอน เดิมจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ข้าวตำบลยางนอนมีวัตถุประสงค์รับองค์ความรู้ การทำข้าวให้ได้คุณภาพโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน รวมทั้งการบริหารจัดการ การตลาด ต่อมาได้รับคำแนะนำจากนายพีระภ์ โตจิตร เกษตรตำบลยางนอน ให้ยกระดับจากแปลงใหญ่ข้าว เป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวตำบลยางนอน เพื่อทางกลุ่มจะได้ยกระดับให้เป็นมาตรฐาน จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีกฎหมายรองรับ ทางกลุ่มจะได้มีข้อมูลอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐ หน่วยงานภาคี เพื่อให้วิสาหกิจได้รับการส่งเสริมในด้านเทคโนโลยีต่างๆ หลังจากจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น เราก็เริ่มจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้ใช้เองและเอาไว้จำหน่ายในกลุ่ม
ต่อมาได้รับการแนะนำจากนางปุญชรัศมิ์  ปลั่งดี เกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช ว่าได้มีโครงการจากบริษัทสยามคูโบต้า คือโครงการคูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจ หรือโครงการ KFC จึงให้วิสาหกิจชุมชนข้าวตำบลยางนอน เสนอขอสนับสนุนปัจจัยการผลิตและทางกลุ่มได้รับการพิจารณาได้รับคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากบริษัทสยามคูโบต้า เป็นรถไถนาพร้อมอุปกรณ์ ทางเราจึงได้ปรึกษากับทางเกษตรอำเภอ ว่าเรามจะทำโครงการธนาคารฟางข้าว เนื่องด้วยปัจจุบันทางชุมชนเรามีปัญหาภาวะโลกร้อนมีการเผา ฟางตอซังข้าว ทำให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นในชุมชน จึงมีความคิดว่าควรจะตั้งธนาคารฟางขึ้น ซึ่งชุมชนก็จะได้รับผลดีจากการที่มีธนาคารฟาง คือ 1. เราจะได้อากาศที่ดี 2.เราจะได้สุขภาพที่ดี 3.เราจะได้ดินที่ดี 4.เราจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือเกษตรกรจะมีรายได้ที่ดีขึ้น
การดำเนินการของโครงการนี้ ก็คือกลุ่มก็จะมีรถให้กับสมาชิกเอาไว้บริการในการอัดฟางก้อน การอัดฟางก้อนระบบการขนส่งจะมี 2 อย่างคือสมาชิกในกลุ่มขนฟางเอง และทางธนาคารขนส่งให้ถ้าธนาคารขนส่งให้ก็จะคิดค่าบริการในการอัดก้อนละ 10 บาทค่าขนส่งก้อนละ4บาทถ้ารวมทั้งต้นทุนการอัดก้อนด้วยก็จะอยู่ ในราคา 10-14 บาทส่วนการจัดเก็บเรามีโกดังอยู่ 2 แห่งเป็นโกดังของวิสาหกิจชุมชนของเราสามารถเก็บฟางได้ประมาณ 8,000 ก้อน หลังจากการขนแล้วเราก็จะมีการตลาด ซึ่งมีทั้งการขายตรง ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านทางนายหน้า และทางโซเชียล คาดว่าการผลิตฟางอัดก้อนของเราเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์แน่นอน
และในปี 2567 เราจะมีระบบให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสามารถฝากและถอนฟางเอาไปใช้ได้ พอถึงเวลาส่งคืนต้องคืนเป็นฟางก้อน โดยกลุ่มจะคิดดอกเป็นฟางก้อนร้อยละ 5 ก้อนและในอนาคตเราจะออกค่าใช้จ่ายค่าบริการในการอัดฟางให้ก่อนหลังจากขายฟางได้แล้วทางกลุ่มถึงจะหักค่าใช้จ่ายคืน ขณะนี้ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ของเรามีสมาชิกทั้งหมด 76 รายพื้นที่ทำนา 1,232 ไร่หลังจากที่ตั้งธนาคารฟางขึ้นทำให้ปัญหาการเผาฟางลดลงไปได้ถึง 80 เปอร์เซน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และสร้างธนาคาร EM ให้กับกลุ่มของเราด้วย หลังจากสมาชิกกลุ่มอัดฟางไปแล้วทางกลุ่มก็จะทำการหมักตอซังและเศษฟางข้าวก่อนทำการเกษตรโดยไม่ต้องเผาฟาง ซึ่งสะท้อนจากเกษตรกรที่ไม่เผาฟางคือดินก็จะดีลดการใส่ใส่ปุ๋ย จึงขอฝากถึงชาวบ้านเกษตรกรว่าการเผาฟางนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังยังทำให้มลภาวะทางอากาศแย่ลงทำให้เกิดมลพิษ ฝากเกษตรกรให้หยุดเผาตอซังแล้วเราจะได้อากาศที่ดี ได้สุขภาพที่ดี ดินเราก็จะดีสิ่งแวดล้อมดีสิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือเราจะมีรายได้ที่ดีขึ้น    สำหรับช่องทางการจำหน่ายของเรามีทั้งขายตรง และเพจ ชื่อวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ตำบลยางนอน หรือโทรศัพท์หมายเลข 088-896 5687 ให้บริการ 24 ชั่วโมง
นายพีระภ์  โตจิตร เกษตรตำบลยางนางนอน กล่าวว่าด้วยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีนโยบายให้สำนักงานเกษตรอำเภอแต่ละอำเภอรณรงค์ส่งเสริมหยุดการเผาฟางในพื้นที่ แรกๆเรารณรงค์ให้เกษตรกรหยุดเผาลดการเผาให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆของโทษและประโยชน์ในการหยุดเผา ยอมรับว่าแรกๆ ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดปัญหาและอุปสรรคกับเกษตรกรมากมาย จนมาพบกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวตำบลยางนอน หลังจากได้ร่วมกันทำกิจกรรมก็มองเห็นโอกาสตนในฐานะเกษตรตำบลได้ประสานไปที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี บริษัทสยามคูโบต้า และการไฟฟ้า เพื่อมาให้ข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันและเลิก หยุดการเผาฟากพร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากเดิมที่เราเผาซึ่งไม่สร้างเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าวแต่ปัจจุบันเราคิดว่ารายได้จากการอัดฟางจะเป็นกำไรอีกช่องทางหนึ่งของพี่น้องเกษตรกร
ทางด้าน นางปุญชรัศมิ์  ปลั่งดี เกษตรอำเภอเดิมบางนางบวช กล่าวว่าในนามของสำนักงานเกษตรอำเภอเดิมบางนางบวชได้สนับสนุนให้กลุ่มมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนตามเจตนารมณ์ของ พรบ.วิสาหกิจชุมชน ปี 2548 ทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีการสนับสนุนให้กลุ่มมีการจดทะเบียนเพื่อที่กลุ่มจะได้มีการรับการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้กลุ่มดำเนินการอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ตำบลยางนอน สำนักงานเกษตรอำเภอได้มาดำเนินการในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ เช่นกิจกรรมของกลุ่มแปลงใหญ่ตำบลยางนอน จะมีทั้งการผลิตเมล็ดข้าว การจัดทำแปลงเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้คือกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าวตำบลยางนอน ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทคูโบต้า ได้มอบรถไถและรถอัดฟาง และกลุ่มก็ได้ดำเนินการรับอัดฟาง แต่ยังไม่จำหน่าย แต่นำไปทำธนาคารฟางข้าว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรด้วย และช่วยลดปัญหามลพิษ ที่ผ่านมาเกษตรกรถูกมองว่าเป็นจำเลยเรื่องการเผาฟางส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจก ดังนั้นเราจึงปรับแนวคิดใหม่คือ ถ้าเราอัดฟางก็จะไม้สร้างมวลภาวะแล้วยังมีรายได้ให้เกษตรและสมาชิกด้วย
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี