ศิษย์ดีต้องมีครู
พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน เนื่องด้วยในวันไหว้ครูบูรพาจารย์ วิสาขบูชารำลึก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 อาตมาก็จะขออุทิศจุดไฟในใจคนฉบับนี้เป็นที่ระลึกถึงครูของอาตมา คือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดวิชา และดำริให้จัดงานไหว้ครูบูรพาจารย์เป็นประจำทุกวันวิสาขบูชาของแต่ละปี ทำมาตั้งแต่ก่อนอาตมาจะเกิดเสียอีก อาตมาเคยถามว่า ทำไมจะต้องจัดงานไหว้ครูบูรพาจารย์ในวันวิสาขบูชา พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็ตอบว่า เพราะว่าครูของอาตมาก็คือพระพุทธเจ้า
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยถือว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องถามถึงเรื่องการเกิด และการตายในวันเดียวกัน (เพราะบ้านเมืองทางตะวันออกที่นับถือมหายาน เขาแยกวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานจากกัน) แต่สาระสำคัญของวันวิสาขบูชานั้นก็บ่งบอกในตัวอยู่แล้ว ว่า พุทธะเกิด-กิเลสอาสวะดับ วันวิสาขบูชาคือวันที่ทั้งเกิด และดับเกิดขึ้นในโอกาสเดียวกัน และเรื่องของการเกิดดับ ก็คือแก่นคำสอนหลักทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนชัดเจนว่า มีเกิด ย่อมมีดับ และถ้าปัญญาเกิด กิเลสก็ดับ เหตุผลเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูลมีความประทับใจในวันวิสาขบูชา และกำหนดไว้เป็นวันไหว้ครูประจำปี พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูลถือหลักใหญ่ใจความสำคัญว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครู เป็นครูสูงสุดของหลวงพ่อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระพุทธเจ้าทรงวางแนวทาง วางหลักการขัดเกลาผู้คนให้เดินบนหนทางเกษม หากปราศจากพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็อาจจะไม่มีใครที่บอกว่า ความสุขเกษมโดยแท้นั้นมีจริง นิพพานมีจริง และก็มีหนทางไปได้จริง ผ่านวิธีการขัดเกลาที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำแนวทางไว้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูลก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ผ่านการขัดเกลาบุคคลตามหลักสูตรของพระพุทธเจ้า จนกลายเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพเลื่อมใส มีความสง่างาม จริยวัตรงดงามเป็นที่น่าเคารพ
หลวงพ่อพูลยังคงถือคติสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “ศิษย์ดีต้องมีครู” คำว่าศิษย์ดีต้องมีครู หมายความว่า ศิษย์ที่ดีจะต้องมีความระลึกนึกถึงในพระคุณครูอยู่เสมอ เพราะการที่คนหนึ่งคนมีสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เป็นได้ ย่อมเกิดจากบุคคลที่สอนสั่งสรรพกิจวิทยาให้แก่ศิษย์ บุคคลเช่นนี้เราเรียกว่า ครู พระพุทธเจ้าก็มีครู แม้ว่าพระองค์จะตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ทรงรู้แจ้งเอง ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในบทพระพุทธคุณ แต่ว่าพระองค์ก็ทรงรู้ว่าทรงมีครู เมื่อศิษย์ไปไกลกว่าครู พระองค์ก็ระลึกถึงครูของพระองค์ ก็คือ อุทกดาบส และอาฬารดาบส สองดาบสที่พระพุทธเจ้าทรงเคยเข้าเรียนในสำนักจนมีความรู้ได้ฌานสมาบัติ เมื่อทรงได้พระโพธิญาณก็ทรงคิดจะกลับไปบอกสิ่งที่ทรงค้นพบ แต่เมื่อทรงพบว่าอาจารย์พระดาบสทั้งสองได้ละสังขารลาโลกไปแล้ว ก็ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ในลำดับต่อไป พระอริยสาวก อย่างพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร เดิมเป็นสานุศิษย์ในสัญชัยปริพาชก อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครั้นทั้งสองได้พบกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงพากันไปบอกแก่สัญชัยปริพาชกว่าบัดนี้ได้พบสัจธรรมแล้ว ก็ถือเป็นคุณธรรมของผู้เป็นศิษย์ที่มีต่อครูจะเห็นได้ว่า จริยวัตรของศิษย์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ถือเรื่องครูเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อตนเองเดินได้ดี มีทางไป ก็จะไม่ลืมครู รวมถึงการชักนำครูให้ไปสู่หนทางที่ดีกว่าด้วย เพราะศิษย์คือภาระของครู ครูคือภาระของศิษย์ ศิษย์และครูคือผู้ที่เดินไปด้วยกัน ประคับประคองกันไป
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงกระทำเป็นแบบอย่างแล้ว อริยสาวกได้ทำเป็นแบบอย่างแล้ว ก็ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ปฏิบัติตาม และแม้ครูผู้นั้นได้ล่วงลับไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าสายสัมพันธ์ระหว่างครู และศิษย์จะหมดไป การบูชา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็เป็นหนทางที่จะเชื่อมครูกับศิษย์เข้าด้วยกัน และที่สำคัญที่สุด คือการเชื่อมศิษย์ด้วยกันเข้าด้วยกัน ให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันในฐานะศิษย์ครูเดียวกัน พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมแห่งความสามัคคี ครูนั้นเหมือนต้นยางใหญ่ที่ผลิดอกออกลูกยางให้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แต่ลูกยางเหล่านี้ก็มีจุดกำเนิดจากที่เดียวกัน ดังนั้น พิธีไหว้ครูจึงเป็นโอกาสให้ “พี่น้องร่วมสำนัก” ได้มาพบปะกัน ทำกิจกรรมร่วมกันตามกำลังของตน เกิดเป็นพลังความสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความระลึกอยู่เสมอว่าเราเป็นศิษย์มีครูสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูลได้ปลูกฝังแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ เมื่องานไหว้ครูได้จัดขึ้นทุกปี ศิษยานุศิษย์จากแห่งหนตำบลใดก็ย่อมรู้กาลรู้เวลา และเดินทางมาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อมาพบกันก็ได้พูดคุยถือวิสาสะกันอย่างคุ้นเคย เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นอยู่เสมอ
จนมาถึงบัดนี้ บรรยากาศก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่งานไหว้ครูบูรพาจารย์ จึงเป็นมากกว่าการไหว้ครู เพราะเป็นการสำแดงคุณธรรมว่า ศิษย์ดีต้องมีครู ให้ครูได้อยู่ในใจของทุกคนเสมอ และก่อเกิดเป็นพลังความสามัคคีกลมเกลียวกันในหมู่ศิษย์ อันเป็นสิ่งที่ครูทั้งหลายได้ปรารถนาไว้เสมอ ขอเจริญพร