อ่างทอง   ผู้ว่าฯ วางพวงมาลาสดุดี นายดอกและนายทองแก้ว

อ่างทอง   ผู้ว่าฯ วางพวงมาลาสดุดี นายดอกและนายทองแก้ว
งาน “สดุดีวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” ประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 เมื่อเวลา 07.00 น ในช่วงเช้านายสหชัย แจ่มประสิทธิ์กุล นายอำเภอวิเศษชัยประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยข้าราชการ องค์กรต่างๆ และชาวบ้านร่วมพิธีทางศาสนา โดยทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ ณ บริเวณปรัมพิธีด้านทิศตะวันตกของอนุสาวรีย์ นายดอก นายทองแก้ว หลังจากนั้น เวลา 7.30 น นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองประธานในพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณนายดอก นายทองแก้ว และได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลาของหน่วยงาน องค์กร ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการรำลึก และเทิดทูนเกียรติประวัติวีรกรรมความกล้าหาญ เสียสละ ของวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์ นายดอก นายทองแก้ว หมู่ที่ 2 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น. นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีนายดอก นายทองแก้ว เนื่องในงาน “สดุดีวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” ประจำปี 2566

เพื่อรำลึกและเทิดทูนเกียรติประวัติวีรกรรมความกล้าหาญ เสียสละ ของวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ที่ได้ต่อสู้ปกป้องชาติ แผ่นดิน ด้วยชีวิต และเลือดเนื้อ เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ให้แก่ลูกหลาน อันเป็นวีรกรรมที่ภาคภูมิใจของชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยมี นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารผ่านศึก ชมรมผู้สูงอายุ และประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง ร่วมพิธี


เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งของวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ที่ได้มีการจารึกไว้ คือ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช 2308 พม่าได้ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยแบ่งเป็น 2 กองทัพ คือ กองทัพฝ่ายเหนือ มีเนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพ และกองทัพฝ่ายใต้ มีมังมหานรธา เป็นแม่ทัพ กองทัพพม่าได้ตีหัวเมืองต่างๆ ตามเส้นทางเคลื่อนทัพ พร้อมทั้งปล้นทรัพย์สมบัติ และทำร้ายชีวิตผู้คนมาตลอดเส้นทางเดินทัพ จนมาถึงแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ นายดอก และนายทองแก้ว ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จึงร่วมมือกับวีรชนคนกล้าแห่งบ้านสีบัวทอง อีก 4 คน คือ นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง รวบรวมผู้คนและอาวุธทำการต่อสู้และลวงพม่าไปฆ่าตายเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยทหารพม่ามีจำนวนมาก นายดอกและนายทองแก้ว พร้อมกับพวก จึงได้พากันไปสมทบที่บ้านบางระจัน ซึ่งมีชัยภูมิที่ตั้งเหมาะแก่การตั้งค่ายสู้รบ โดยเข้านมัสการเป็นศิษย์พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งวัดโพธิ์เก้าต้น และร่วมกับหัวหน้าคนไทย อีก 5 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่ ได้ร่วมกันต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างกล้าหาญถึง 8 ครั้ง นานกว่า 5 เดือน จึงเสียค่าย และเสียชีวิตทั้งหมด ณ ค่ายบางระจัน
สาทร คชวงษ์ / รายงาน