กาญจนบุรี  ชาวบ้านไปศาลากลางยื่นหนังสือคัดค้านขอประทานบัตรเหมืองแร่โรงโม่หิน

กาญจนบุรี  ชาวบ้านไปศาลากลางยื่นหนังสือคัดค้านขอประทานบัตรเหมืองแร่โรงโม่หิน หวั่นได้รับผลกระทบต่อ ปชช.ยกโรงโม่ จ.สระบุรี เป็นตัวอย่าง
วันที่ 8 มีนาคม 2566 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.66 นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย เกษตรกร และว่าที่ผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย นางสาวพัดชา โสดสงค์ นำชาวบ้านหมู่ 6 บ้านเขาช่อง ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีกว่า 60 คน ยื่นหนังสือให้ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อคัดค้านการประทานบัตรการสัมปทานเหมืองแร่หินแกรนิตและการตั้งโรงโม่หิน ของบริษัทเอกชน โดยมีว่าที่ ร้อยตรีศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับมอบ มีนายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา นางสาวอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายอนันท์ชัย ทองสีนุช ป้องกันจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมสังเกตการณ์
นอกจากยื่นหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านที่มายังได้นำป้ายคัดค้านมาชูให้เจ้าหน้าที่ได้เห็น เช่นป้ายที่นำมามีข้อความระบุว่า “ขอความเห็นใจพวกเราชาวบ้านเถอะ อย่าทำลายทรัพยากร และสุขภาพของพวกเราเลย X คัดค้านสัมปทานเหมืองแร่X” “สุขภาพหนูดีอยู่แล้ว อย่าทำร้ายหนูเลย ไม่เอาโรงโม่หิน” “มันจะอยู่กับเรานานเกิน 30 ปี หยุดมลพิษทางอากาศและเสียง” “ไม่ใช่คนขายเขา แค่คนขายข้าวแกง บ้านนี้ไม่เอาโรงโม่หิน” และ “พวกหนู NO ไม่เอาเหมืองแร่ ร่วมใจ ปกป้อง ไม่สร้างเหมือง ไม่สร้างมลพิษ” เป็นต้น


ทั้งนี้ ว่าที่ ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ท่านปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย ในฐานะที่ท่านได้เข้าไปคลุกคลีอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นการดีที่พี่น้องประชาชนที่มาได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ ที่มีขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ แต่ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งพี่น้องชาวตำบลเขาสามสิบหาบและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้มีการแสดงความคิดเห็นกันมาแล้ว ความคิดเห็นนั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในส่วนนี้อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องนำเรียนไปถึงผู้มีอำนาจในการอนุมัตินั่นก็คืออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งอำนาจในการอนุมัตินั้นไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยในการกลั่นกรองคำคัดค้านจากอุสาหกรรมเพื่อไม่ให้ข้อความคัดค้านของพี่น้องประชาชนตกหล่น เมื่อข้อความคัดค้านถูกส่งไปถึงกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมก็จะพิจารณา ซึ่งมีทั้งอนุญาตออกประทานและไม่ออกประทานบัตรให้ มันเป็นไปได้ทั้งสองแนวทาง ซึ่งหลังจากรับหนังสือแล้วตนจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นทราบต่อไป


ด้าน นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย ได้กล่าวกับ ว่าที่ ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่มารับหนังสือว่า ถึงแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะไม่มีอำนาจในการอนุญาตออกใบประทานบัตรก็ตาม หากท่านผู้ว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหรือหากท่านผู้ว่า แสดงความคิดเห็นว่าไม่สมควรที่จะออกประทานบัตรให้ เพราะจะเกิดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มันจะทำให้มีน้ำหนัก ซึ่งผู้ว่าฯเป็นพ่อเมือง จะต้องรับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าโรงโม่ต่างๆที่มีเช่นโรงโม่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่จังหวัดราชบุรี ก็จะพบเป็นกลุ่มโรงโม่หิน ที่ไม่ใช่มีแค่โรงโม่โรงเดียว ซึ่งหากอนาคตมีโรงโม่ขั้นมาในพื้นที่ตำบลเขาสามสิบหาบเป็นสิบโรงโม่ นั่นจะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งพื้นที่อำเภอท่ามะกามีเส้นทางในการขนส่งหินอยู่เป็นจำนวนมาก และขอยกตัวอย่างโรงโม่หินที่จังหวัดสระบุรีว่า ถนนที่เป็นถนนสายเมน มีเศษหินเศษฝุ่นปลิวตกกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันเราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าในระดับนานาชาติกำลังรณรงค์เรื่องฝุ่น PM 2.5 กันอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯติด 1 ใน 10 ของโลกแล้ว
โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยเนื่องจากหินที่ได้จากโรงโม่มันมีความสำคัญเพราะประเทศชาติจะต้องมาการพัฒนา แต่ขอให้โรงโม่เหล่านี้ไปหาจุดที่ดีที่สุดที่ไม่ไปรบกวนชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดได้ลงชื่อคัดค้านทั้งหมด 2329 รายชื่อ โดยไม่ต้องไปบังคับใคร ซึ่งอยากให้ทางจังหวัดไปสุ่มสำรวจดูก่อนก็ได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบภูเขาที่บริษัทเอกชนยื่นขอประมาณ กว่า 400 ไร่ เขาจะเอาโรงโม่หรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีใครต้องการเอาโรงโม่มาตั้งเอาไว้ใกล้บ้านของตนเองงอย่างแน่นอน


นางสาว อารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่กรณีคำขอประทานบัตรที่ 1/2562 ของบริษัท แห่งหนึ่ง  เขตท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ศาลาเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและมีประชาชนทั้งในพื้นที่ขอประทานบัตร และที่อยู่ภายในระยะใกล้เคียง รวมถึงที่อยู่นอกพื้นที่เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกพื้นที่คัดค้านการขอประทานบัตรและโรงโม่หิน
ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการรายงานผลการรับฟัง ความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตร ดังนี้ 1. ที่ทำการ จรท. 2.ที่ว่าการอำเภอท่ามะกา 3. ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง 4. ที่ทำการ อบต.เขาสามสิบหาบ 5.ที่ทำการกำนันตำบลพังตรุ 6. ที่ทำการกำนันตำบลเขาสามสิบหาบ 7. ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 และ 8. ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9


โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้แนบรายชื่อผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นใน พื้นที่ที่ขอประทานบัตรเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงข้อมูลตามคำร้องขอของผู้คัดค้าน และได้รายงานการคัดค้านการขอประทานบัตรโรงโม่หินให้ผู้มีอำนาจทราบแล้ว และชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงจำนวน 9 หมู่ ก็ได้เปิดเวทีไม่ยอมให้มีโรงโม่หินบริเวณนี้ กันมาหลายครั้งก่อนหน้านี้เช่นกัน แต่เกรงว่าเสียงคัดค้านจะไม่ดังพอ จึงมีการรวมตัวไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทบทวนช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้อีกแรง
หลังจากเสร็จการยื่นหนังสือ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่จะมีการขอประทานบัตร หมู่ที่ 6-8 ตำบลเขาสามสิบหาบ และบริเวณวัดโป่งยอ หมู่ที่ 10-13 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พบคนในชุมชนทั้ง 2 จังหวัด 3 อำเภอ ได้ทำการติดป้ายคัดค้านการให้สัมประทานโรงโม่หิน ชาวบ้านต่างบอกว่าหากมีโรงโม่ชีวิตชาวชุมชนจะเปลี่ยนไป เกิดฝุ่นละออง เกิดการเจ็บป่วยตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องคัดค้านไม่ต้องการโรงโม่บริเวณนี้เด็ดขาด
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี