กาญจนบุรี กำนันตำบลหนองลู นำชาวบ้านดับไฟป่าและทำแนวกันไฟป้องกันป่าเต็งรัง

กาญจนบุรี กำนันตำบลหนองลู นำชาวบ้านดับไฟป่าและทำแนวกันไฟป้องกันป่าเต็งรังผืนสุดท้าย ของชาวบ้าน
วันที่ 2 มีนาคม 2566 นายพุทธชาย หลวงวิเศษ กำนันตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายทน ศรีวัฒนา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองลู นำทีมผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จิตอาสา ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม รวมกว่า 40 คนเข้าทำการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณเขาแท่นเสือนอน ป่าห้วยองค์พระ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเข้าแหลม ในพื้นที่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน
โดยการดับไฟในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงช่วงเวลา 01.00 น.ของวันนี้ ด้วยการแบ่งทีมเข้าดับไฟ และทีมทำแนวกันไฟเพื่อควบคุมไฟไม่ให้ขยายวง ออกไป โดยการใช้คราด มีด และเครื่องเป่าใบไม้ทำแนวกันไฟความกว้างกว่า 3 เมตร ยาวเป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร


ซึ่งขณะนี้อำเภอสังขละบุรีเริ่มประสบปัญหาไฟป่า ที่นำมาสู่ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองปกคลุมพื้นที่อำเภอสังขละบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงจนเริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยล่าสุดนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล ได้แจ้งผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาพื้นที่ทาการเกษตร ในพื้นที่ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของไฟป่าที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีในขณะนี้


โดยนายพุทธชาย หลวงวิเศษ กำนันตำบลหนองลู ผู้ริเริ่มจัดตั้งประชาชนจิตอาสาดับไฟป่าในพื้นที่ตำบลหนองลู เปิดเผยว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ใช่หน้าที่คนใด หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ตนเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมรงร่วมใจช่วยกันป้องกัน แก้ไข เนื่องจากผลกระทบส่งผลเสียต่อทุกคน ในเบื้องขณะนี้ในพื้นที่ตำบลหนองลู ได้มีการจัดตั้งจิตอาสาป้องกันไฟป่าใน 2หมู่บ้าน ได้แก่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 7 และบ้านเวียคะดี้ หมู่ที่ 5 อนาคตจะขยายยังหมู่บ้านอื่นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ขณะที่ นายทน ศรีวัฒนา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าสำหรับบริเวณเขาแท่นเสือนอน ในป่าห้วยองค์แห่งนี้มีความสำคัญต่อชีวิตและจิตวิญาณของชาวบ้าน เป็นป่าเต็งรังผืนสุดท้าย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร(เห็ดเผาะ)และสมุนไพร ที่ใช้กันมาตั้งแต่ในอดีต นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนำวัว ควาย มาเลี้ยงเนื่องจากมีหญ้าและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์
ขณะที่ น.ส.อังดารา เสดวงชัย จิตอาสาบ้านใหม่พัฒนา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าที่ออกมาร่วมกิจกรรมดับไฟป่าและทำแนวกันไฟทุกครั้ง เนื่องจากอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ป่าเต็งรังผืนสุดท้ายของหมู่บ้านให้ลูกหลานได้เห็น ได้ใช้ประโยขน์ต่อไปและรู้สีกมีความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ออกมาทำงานร่วมกับคนอื่นในการดูแลรักษาทรัพยากรและป่าต้นน้ำ ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้หล่อเลียงชีวิตอื่นที่อยู่ด้านล่างลงไป.


สำหรับเขาแท่นเสือนอน เป็นป่าเต็งรังผืนสุดท้ายที่พบในพื้นที่ โดยมีผืนที่รวมกว่า 500 ไร่ โดยมีต้นเต็งรังขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้นสลับกับไม้ชนิดอื่น เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนชาวบ้านจะพากันมาหาเห็ดเผาะที่เกิดจากต้นเต็งรัง นอนจากนั้นยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนของชุมชน ในการชมทะเลหมอกบนเขา เนื่องจากมีระยะทางห่างจากหมู่บ้านเพียง 5 กิโลเมตรเศษ สามารถเดินทางมาได้โดยรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเรือ ก่อนเดินเท้าขึ้นยอดเขา นอกจากนั้นในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีน้ำตก ถ้ำรวมทั้งแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของชุมชนกะเหรี่ยง ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมานานกว่า 200ปี
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี