กาญจนบุรี จัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566

กาญจนบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ วางพานพุ่มถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย เนื่องในงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่ ศาลา 60 พรรษามหาราช เทศบาลเมืองกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย เนื่องในงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 พร้อมด้วย นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ทหาร ตำรวจ และประชาชนเข้าร่วมพิธี
ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยและทรงพระปรีชาสามารถด้านการช่าง รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน


จังหวัดกาญจนบุรีจึงได้จัดพิธีวางพานพุ่มถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ในงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อช่างฝีมือและการส่งเสริมพัฒนาช่างฝีมือไทย จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 ในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน ความตอนหนึ่งว่า “ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา ต้องอาศัยและใช้บริการ หรือ สิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่วัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับการเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการ” จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม แม้จะผ่านมาถึง 53 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำมาปฏิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี