อ่างทอง ผู้ว่าฯลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อร้องเรียน พร้อมยืนใจกลางกองขยะพิสูจน์กลิ่น

พ่อเมืองอ่างทอง ลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อร้องเรียน พร้อมยืนใจกลางกองขยะพิสูจน์กลิ่น

เมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ตนเอง พร้อมด้วย นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางสาวแสงมณี มีน้อย ท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง นายเตือนใจ ทรงไตร นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง นายทะนงศักดิ์ ศรีวิชัย ปลัดเทศบาลเมืองอ่างทอง ได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชน ณ บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทอง ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวช่องทางสื่อหลายช่อทางโดยเฉพาะมีทีวีบางช่องนำเสนอข่าว ในประเด็นที่มีประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช ได้รับความเดือดร้อนจากศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทอง ในเรื่องขยะมีกลิ่นเหม็น และรถบรรทุกขยะมีน้ำขยะหยดตามพื้นถนน และกล่าวพาดพิงถึงตนว่านั่งแต่ในห้อแอร์ ชาวบ้านร้องเรียนไปหลายครั้งก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ซึ่งในวันนี้ตนได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายอำเภอไชโย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชนและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมรับฟังการแถลงข่าวเพื่อจะได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร


นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทองแห่งนี้ ได้มีการออกแบบโดยที่ปรึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยที่เป็นศูนย์หลักในการดูแลบริหารจัดการขยะในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดยเปิดรับขยะมูลฝอยมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 เป็นต้นมา ซึ่งคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดได้กำกับดูแลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต่อมาในปี 2557 กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทอง ได้บูรณาการตาม roadmap ในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้ขอความร่วมมือปิดบ่อขยะที่ไม่ถูกหลักวิชาการ จำนวน 11 บ่อ เหลือ จำนวน 1 บ่อ คือ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทองแห่งนี้ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (คลัสเตอร์) โดยกำหนดให้จังหวัดอ่างทอง มี 1 กลุ่มคลัสเตอร์ คือ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแห่งนี้
นายรังสรรค์ ตันเจริญ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดอ่างทองได้มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทอง และการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองอ่างทองแห่งนี้ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ ว่าการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทองดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย และที่ผ่านมาคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดอ่างทอง ได้กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวถึง ประเด็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมของเทศบาลเมืองอ่างทอง หลังช่วงสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อปี พ.ศ. 2565 จังหวัดอ่างทองได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการร้องเรียนกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรมได้มีการร้องเรียนล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 และได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำข้อปฏิบัติไปดำเนินการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยให้ถูกต้อง และให้เทศบาลเมืองอ่างทองดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพร้อมตรวจติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
นางสาวแสงมณี มีน้อย ท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง กล่าวถึงกรณีปัญหากลิ่นเหม็น มีขยะตกหล่น น้ำขยะหยดลงพื้นถนน โดยได้เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 และประกาศของกระทรวงมหาดไทย โดยเคร่งครัด
นายเตือนใจ ทรงไตร นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง ได้กล่าวถึง การดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ว่าเป็นการดำเนินการร่วมกัน และไม่ต้องขออนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช โดยมีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU ) อีกทั้งได้หารือกับกรมส่งเสริมปกครองงส่วนท้องถิ่นในเรื่องทำบ่อกำจัดขยะนอกพื้นที่ก็ไม่ต้องขออนุญาตแต่ประการใด อีกทั้งได้กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้รถบรรทุกขยะต้องวิ่งด้วยความเร็วที่เหมาะสม และมีสภาพพร้อมใช้งาน ปิดคลุมมิดชิด ไม่มีขยะตกหล่น ไม่มีน้ำขยะหยดลงพื้นถนน ต้องนำขยะมาทิ้งเป็นช่วงเวลา ฝ่าฝืนงดรับขยะ ฯลฯ และได้ปรับปรุงศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทองให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยการตั้งคันดินแยกขยะเก่าใหม่ เร่งการรื้อร่อนขยะเก่า เร่งจำหน่ายให้เอกชนจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรฝั่งกลบ/รื้อร่อนขยะให้เพียงพอ ซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงระบบระบายน้ำผิวดิน และระบบน้ำชะมูลฝอยปัจจุบันเทศบาลเมืองอ่างทองได้ดำเนินการจ้างเอกชนขนถ่ายขยะมูลฝอยใหม่ไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลโดยไม่มีขยะเหลือตกค้างในแต่ละวัน ขณะเดียวกันก็ได้เร่งดำเนินการรื้อร่อนขยะเก่าสะสมและจำหน่ายออกไปเป็นจำนวนมากทำให้ความสูงของกองขยะลดลง สำหรับมาตรการระยะยาว เทศบาลเมืองอ่างทองได้เสนอโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยจัดทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเทศบาลเมืองอ่างทองได้รายงานผ่านคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดอ่างทอง เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วคาดว่าในปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนมีนาคม 2566 คงทราบรายละเอียดที่แน่นอน

นายรังสรรค์ ตันเจริญ กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่จะปิดศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเทศบาลเมืองอ่างทองแห่งนี้เพื่อนำขยะไปทิ้งที่จังหวัดอื่นหรือขอเปิดศูนย์กำจัดขยะแห่งใหม่นั้น จะต้องดำเนินการขออนุญาตปรับปรุงกลุ่มคลัสเตอร์ไปที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องมีเหตุผลความจำเป็นที่จะขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าว และต้องเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการขยะ ซึ่งขยะเกิดที่จังหวัดใด จังหวัดนั้นต้องรับผิดชอบ

สาทร คชวงษ์ / รายงาน