นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย พลักดันยกระดับรายได้ให้เกษตรกร

นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  ผลักดันให้รัฐบาลทบทวนเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกร พร้อมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรให้เพิ่มสูงขึ้น

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า  สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง สถาบันการสร้างชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  กำหนดจัดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ระหว่างวันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง  เพื่อให้เห็นศักยภาพความพร้อมของยางพาราไทยในพื้นที่เขต EEC สู่การผลักดันให้เพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  มีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานเปิดงานในวันที่ 22 กุมภาพันธ์   ซึ่งก่อนหน้านี้ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ ได้เสนอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ  รวมทั้ง ปัญหาที่สหรัฐอเมริกาคุมเข้มห้ามใช้ถุงมือยางจากประเทศไทยที่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย  รวมทั้ง ได้ยื่นหนังสือขอให้บรรจุเพิ่มยางพาราพืชเศรษฐกิจไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570  มีเป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที  ประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์  ได้แก่ ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และฉะเชิงเทรา    ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง    พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพเน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี    พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสนสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี  และเกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ทั้งนี้ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ เสนอให้ยางพาราอยู่ในเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่ทำรายได้ส่งออกถึง 555,401 ล้านบาทต่อปี   และพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 รองจากภาคใต้ และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับพืชอื่นๆใน 5 คลัสเตอร์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากบรรจุยางพาราเป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  จะเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกรและมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
ชาญ ชูกลิ่น อยุธยา