กาญจนบุรี พล.ร.9 ใช้ ฮ.ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง

กาญจนบุรี  พล.ร.9 ใช้ ฮ.ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
วันที่ 3 ธันวาคม 2565 สืบเนื่องจาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้รับรายงานจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ กรณี ชาวบ้านในพื้นที่พบลูกช้างป่าพลัดหลงจากฝูง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านได้สร้างคอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เพื่อรอฝูงช้างป่าให้เข้ามารับลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว แต่ยังไม่พบฝูงช้างป่ามารับแต่อย่างใด จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องออกปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง วันที่ 29 พ.ย. 2565 นายไชยวุฒิ อารีย์ชน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ประสานงานขอสนับสนุนทีมสัตวแพทย์ ประจำ สบอ.3 (บ้านโป่ง) เข้าประเมินสุขภาพลูกช้างป่า นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ประชุมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า จัดเตรียมอุปกรณ์การรักษาในเบื้องต้นและเดินทางเข้าพื้นที่ภายในวันดังกล่าว ถึงพิกัดที่พบลูกช้างป่า ในช่วงค่ำจึงทำการประเมินอาการสุขภาพและเข้าทำการรักษาในเบื้องต้น พบ ลูกช้างป่าพลัดหลง เพศเมีย จำนวน 1 ตัว อายุประมาณ 1 เดือนเศษ น้ำหนักโดยประมาณ 130-150 กิโลกรัม มีสภาพอ่อนแรงมาก ขาดน้ำรุนแรง ถ่ายเหลว มีเยื่อเมือกซีด พบแผลหลุมในช่องปาก พบแผลแมลงวันวางไข่บริเวณปลายริมฝีปากล่างและใบหู พบรอยขีดข่วนบริเวณลำตัว ได้การให้นมผงชนิดเอนฟาแลคผสมยาขับลมไกรวิเตอร์ ทุก 1 ชม. และให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ ทำการรักษาต่อเนื่อง ตามแผนการรักษาของทีมสัตวแพทย์ โดย
การก่อไฟ ห่มผ้าห่ม ในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเช้า


ต่อมา ทีมสัตวแพทย์และคณะเจ้าหน้าที่ ได้ประชุมเพื่อประเมินแนวทางการรักษา พบปัญหา อุปสรรคด้านพื้นที่ เดินทางเส้นทางชัน (เดินขึ้นเขา) ป่ารกทึบ ฝนตกเป็นระยะๆ ต้องเดินข้ามห้วย แนวการเดินค่อนข้างแคบ ลื่น ไม่สามารถใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ (เดินเข้าป่าลึกระยะทาง 4 กิโลเมตร) กรณีฉุกเฉินเกี่ยวตัวสัตว์และทีมเจ้าหน้าที่ จะอันตรายมาก เนื่องจากไม่สะดวกทั้งการเดินทาง และติดต่อสื่อสาร ทีมสัตวแพทย์ ลงความเห็นว่า ควรนำลูกช้างป่าพลัดหลงตัวดังกล่าว มาดูแลรักษาเบื้องต้น ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เนื่องจากมีทีมสัตวแพทย์จากสบอ.3 (บ้านโป่ง ) สัตวแพทย์จากส่วนกลางกรมอุทยานฯ และ สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ยารักษา และอุปกรณ์ที่มีความพร้อม สะดวกในการเดินทาง และระยะทางการเคลื่อนย้ายใกล้กว่าพื้นที่อื่นๆ จะทำให้การรักษามีผลดีต่อสุขภาพของลูกช้าง เพราะไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ภายในเร็ววัน


หัวหน้าอุทยาน และทีมสัตวแพทย์ มีความเห็นว่า ต้องทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าออกจากป่าเพื่อทำการรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ลูกช้างมีโอกาสรอดชีวิตได้ โดยขอ ใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารจาก กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อประเมินความพร้อมแล้วยังไม่สามารถนำ ฮ.ลงได้เพราะต้องขยายการจัดทำลาน ฮ.ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ด้านผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้วางแผนหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญด้านการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ได้แก่ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายทรงฉัตร ประคัลภานนท์ เจ้าหนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) นายเสรี นาคบุญ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ นายภาคภูมิ อร่ามศิริรุจิเวทย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า วางแผนการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าหลังจากเฮลิคอปเตอร์ของทหารลงจอดจะเคลื่อนย้ายลูกช้างด้วยวิธีการอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด สรุปว่า จะเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า โดยได้รับการประสานจากสัตว์แพทย์ในพื้นที่ว่าจะวางยาสลบ ไม่ได้นำลูกช้างใส่ในกล่อง สภาพลูกช้างสามารถพยุงตัวยืนได้ ควบคุมการเคลื่อนย้ายบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมสัตวแพทย์


วันที่ 3 ธันวาคม 2565 การเคลื่อนย้ายลูกช้างโดยเฮลิคอปเตอร์
เมื่อเวลา 8.00 น. เฮลิคอปเตอร์ทหาร ภายใต้การกำกับการของ พลตรี วุทธยา จันทมาศ ผู้บัญชาการกองกำลัง สุรสีห์ พ.อ.รณวรรณ พจน์สถิตย์
ผู้บังคับหน่วยเฉพาะลาดหญ้า พ.อ.ธัชเดช อาบัวรัตน์รอง ผผู้บังคับการหน่วยเฉพาะ ลาดหญ้า และพันเอกธัชเดช อาบัวรัตน์ รองเสนาธิการกองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ยกตัวเคลื่อนย้ายลูกช้างจาก พื้นที่ป่า ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ควบคุมการเคลื่อนย้ายบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมสัตวแพทย์ จำนวน 3 ท่าน (สพ.ญ.ลักขณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์
นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก) ไปยังพิกัดจุดลง ฮ. ณ โรงเรียนวัดคอกช้าง ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
จากนั้นเคลื่อนย้ายลูกช้างโดยรถบรรทุกขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถย้ายสัตว์ป่าโดยเฉาะซึ่งมีตู้ควบคุมอุณภูมิและอุปกรณ์กู้ชีพเบื้องต้น เดินทางโดยรถยนต์ ระยะ 120 กิโลเมตร เพื่อนำลูกช้างไปทำการรักษา ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์ พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี
นำลูกช้างส่งต่อเพื่อพักรักษาตัว ณ อาคารอเนกประสงค์ซึ่งเตรียมความพร้อมสถานที่โดยการฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อย และมีความพร้อมด้านยารักษา อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำการวางแผนการรักษาฟื้นฟูลูกช้างต่อไป
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี