กาญจนบุรี นายอำเภอสังขละบุรีพบผู้ประกอบการ สะพานไม้ฯชุมชนมอญบ้านวังกะ

กาญจนบุรี นายอำเภอสังขละบุรีลงพบปะนักท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบการบริเวณสะพานไม้ฯ ชุมชนมอญบ้านวังกะ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำเสนอคณะอนุกรรมการจัดระเบียบบริเวณโดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์(สะพานไม้) และจัดระเบียบชุมชน ยกเลิกคำสั่งห้ามเด็กหารายได้บนสะพานไม้ฯ
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี นายดำรง สุภาพัฒน์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลวังกะ เดินทางลงพื้นที่สะพานไม้อุตตมานุสรณ์และชุมชนบ้านวังกะ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสังขละบุรี พบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า ประชาชน ผู้ปกครองเด็กบางคน เพื่อเป็นเป็นข้อมูลที่จะนำมาหารือกับเทศบาลตำบลวังกะ คณะอนุกรรมการจัดระเบียบบริเวณโดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานไม้)และจัดระเบียบชุมชน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอสังขละบุรีจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเตรียมทบทวนคำสั่งห้ามเด็กทำกิจกรรม(เทินหม้อ ปะแป้ง ขายดอกไม้ และมักคุเทศก์น้อย) บนสะพานฯ


ทั้งนี้หลังจากที่คณะอนุกรรมการจัดระเบียบบริเวณโดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์(สะพานไม้) และจัดระเบียบชมชน มีมติในที่ประชุม ห้ามเด็กทำกิจกรรมหารายได้บนสะพานไม้ฯ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (1 พฤศจิกายน2565) ตามที่มีการเสนอข่าวตามสื่อต่างๆ จนมีประชาชนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กกลุ่มนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอำเภอสังขละบุรี
ซึ่งก่อนเดินทางกลับ นายสุทธิพร ศิวเวพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้ได้ข้อมูลจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งข้อมูลด้านบวกและด้านลบ ทำให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง รอบด้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กๆเป็นสีสันหนึ่งของสังขละบุรี ที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว แม้บางครั้งจะมีปัญหาบ้างแต่ก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถจัดการแก้ไขและพูดคุยได้ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่สั่งห้ามเลย และควรเปิดโอกาสให้ภารประชาสังคมทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อเกิดผลดีกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอำเภอสังขละบุรี
โดยส่วนตัวเห็นว่าจากนี้ไปต้องมีการพูดคุย วางมาตรการและกฎเกณฑ์ เรื่องเด็กบนสะพานฯให้ชัดเจน เช่นมีการกำหนดอายุของเด็กที่จะมาทำกิจกรรมเช่นต้องมีอายุตั้งแต่8-13 ปี ช่วยเวลาในการทำกิจกรรมบนสะพาน ยกตัวอย่างในช่วงเช้า อนุญาตให้มาในห้วงเวลา 05.30-7.00 น เท่านั้น เพื่อให้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ส่วนตอนเย็นหลังเลิกเรียนก็ไม่ควรเกินเวลา 18.30-19.00 น เพื่อความปลอดภัยของเด็ก หากเป็นวันหยุด(เสาร์-อาทิตย์) ก็พิจารณาตามความเหมาะสม ควรมีการจัดการอบรมให้ความรู้แก่เด็กๆเหล่านี้ ทุก2-3 เดือน หรือทุกครั้งที่เกิดปัญหา และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นฝ่ายปกครอง ตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจ กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียน และดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยให้เด็ก


ส่วนการที่มีสื่อบางส่วนนำเสนอข่าวว่ามีมาเฟียเด็กเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์บนสะพาน นายอำเภอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างยืนยันว่าไม่เคยพบ เช่นเดียวกับเรื่องเด็กต่างด้าวเข้ามาหารายได้บนสะพาน ขอยืนยืนว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กที่นี่ มีบ้านอยู่ในหมู่บ้านวังกะและบริเวณ ซ.วัดศรีสุวรรณ
ซึ่งตนจะเตรียมนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็น ต่อคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดประชุมเพื่อทบทวนคำสั่งห้ามเด็กทำกิจกรรมบนสะพานฯ ภายใน1-2 วันนี้ เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของเด็ก..เสียง..

เช่นเดียวกับ นางธนกร จานแก้ว ชาวอำเภอสังขละบุรี ที่มาเดินออกกำลังกายและถ่ายภาพเด็กๆบนสะพานฯ เพื่อโพสต์ในเฟสบุ๊คของตนเอง ทุกวัน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่ารู้สึกใจหายที่วันนี้ไม่มีเด็กๆ บนสะพาน โดยส่วนตัวตนเองเองเห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการแก้ไขปัญหา ควรเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพราะในมุมที่ดีของเด็กๆก็มี ส่วนมุมไหนไม่ดีก็ค่อยแก้ไขปรับปรุง น่าจะเป็นการแก้ไขที่ดีกว่าการประกาศห้ามเลย
ส่วนบรรยากาศการท่องเที่ยวบริเวณสะพานไม้และชุมชนบ้านวังกะ วันนี้แม้จะไม่ใช่วันหยุดแต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง (300-400 คน) เดินทางมาท่องเที่ยว บนสะพานฯ โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวและเคยทำกิจกรรมกับเด็ก ต่างแปลกใจที่ไม่เห็นเด็กๆบนสะพานฯ และสอบถามเหตุการณ์กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน
เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี