อยุธยา ส่งเสริมให้ละออฟาร์ม อำเภอบางบาล เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งเสริมให้ละออฟาร์มของอำเภอบางบาล เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสามารถผลิตเมล่อนปลอดภัยได้ตามแนวทฤษฎีใหม่

นายประสงค์   ไกรสิงห์  รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนปลอดภัยตามแนวทฤษฎีใหม่ เปิดเผยว่า  ละออฟาร์ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนปลอดภัยตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สามารถสร้างรายได้ 600,000 บาทต่อปี  จากกำลังการผลิต  1,000 – 8,000 กิโลกรัม/เดือน  ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก  พร้อมได้รับความรู้  และจับจ่ายผลไม้ที่มีคุณภาพ และราคาถูกกลับบ้านไปอีกด้วย   ภายใต้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร  4 โซน บนพื้นที่ 9 ไร่  ประกอบด้วย โซนเมล่อน โซนโคกหนองนาโมเดล โซนไร่นาสวนผสม  ที่เต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด  เช่น น้อยหน่า   ละมุด  แก้วมังกร  มะม่วง  ฝรั่ง  อินทผลัม

โดยผลไม้ทุกชนิดจะเน้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  เน้นใช้สารชีวภัณฑ์ในกระบวนการป้องกันกำจัดโรคและแมลง  พร้อมส่งจำหน่ายตลาดภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำหน่ายที่ฟาร์ม  ออกร้านจำหน่ายกับส่วนราชการภายในจังหวัด รวมถึงตลาดประชารัฐในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดฯ  ส่วนตลาดภายนอก  จะมีตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ตลาดห้วยขวาง และออกร้านจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ล่าสุด  ละออฟาร์ม  ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร  เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงวิถีชีวิต  วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสินค้าชุมชน  ตามที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้ามาส่งเสริม  จนทำให้ละออฟาร์มได้รับการรับรองเครื่องหมาย Q  รับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย ตามโครงการส่งเสริมการบริโภคและใช้วัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว


นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอบางบาล ประกอบด้วย  วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำดื่มเทพนาคา ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล    วิสาหกิจชุมชนดอกไม้ประดิษฐ์จากการบูร ตำบลกบเจา อำเภอบางบาล   ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอบางบาล ตำบลกบเจา อำเภอบางบาล  และศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่อำเภอบางบาล ตำบลกบเจา  ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันในการแลกเปลี่ยนสินค้า องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในและนอกชุมชน เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต้นแบบ
ชาญ ชูกลิ่น รายงาน