กศน.เดินหน้าพัฒนาบุคลากร ตอบโจทย์มาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติอย่างมีคุณภาพ

“กศน.เดินหน้าพัฒนาบุคลากร ตอบโจทย์มาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติอย่างมีคุณภาพ !!

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายวัลลภ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. ให้นโยบายในการเปิดการอบรมบุคลากรสังกัดสำนักงาน กศน.เพื่อให้เป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัด สำนักงาน กศน.ตามมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2562 เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.แก่ผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศน์ และข้าราชการ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรม รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2565 จากพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ จำนวน 40 จังหวัด รวม 139 คน โดยมี นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน.นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่ม พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และคณะ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

โดยสำนักงาน กศน.โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ได้พัฒนา จัดทำหลักสูตรและจัดอบรมขึ้น จำนวน 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 จัดขึ้น ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด ผู้อำนวยการสถานศึกษาศึกษานิเทศก์ และข้าราชการ จากพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ารับการอบรม รวมจำนวน 37 จังหวัด กว่า 150 คน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน.กล่าวตอนหนึ่งว่า “โจทย์ที่สำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้เรียน ผู้รับบริการ หรือชุมชน สังคม เกิดความมั่นใจ เชื่อมั่นต่อสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.ได้ว่า “สถานศึกษาของเรานั้น จะสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ” ดังนั้น “การจัดทำหรือปรับปรุงแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี จนนำไปสู่การดำเนินงานของสถานศึกษา และการประเมินคุณภาพการศึกษาเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา” จึงถือเป็นแนวทางและเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยสะท้อนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาได้ อันจะส่งผลต่อการได้รับการยอมรับจากผู้เรียน ผู้รับบริการ หรือชุมชน สังคม ต่อไป

โอกาสนี้ จึงขอให้บุคลากรทุกคน ทั้งที่อยู่ในสำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม.และสถานศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหาร ครู และผู้ที่ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน โดยเน้นการวางแผนการดำเนินงาน การดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนและผู้รับบริการให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้ ทั้งการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย ต่อไป

 

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน.ได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.ว่า “ สิ่งที่สำคัญเป็นประการแรกของการสร้างหรือพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา คือ การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา อันจะนำไปสู่ การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานและการประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา ต่อไป

“แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา เปรียบเสมือนการตั้งเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ หากสถานศึกษามีผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่คาดหวังที่กำหนดไว้ตามแผน ก็จะนับได้ว่า ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน”ทั้งนี้ เมื่อแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัดจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาที่ดีแก่สถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ในขณะเดียวกัน สำนักงาน กศน. จังหวัด/กทม.ก็ต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและ สนับสนุนการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาในระดับพื้นที่ โดยการคำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือและร่วมพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายในให้แก่สถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในสามปีงบประมาณ หรือที่เราเรียกกันว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาโดยต้นสังกัด นั้นเอง

อย่างไรก็ดีสำหรับการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.นั้น มีความหลากหลายมาก มิใช่ห้องสมุดเพียงอย่างเดียว ในอนาคต กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจึงควรมีการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาแนวทางและรูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่หลากหลาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้การประเมินคุณภาพการศึกษาตามอัธยาศัย มีความชัดเจน สอดคล้องและมีมาตรฐาน ที่สามารถเทียบเคียงกันได้ อันจะส่งผลต่อพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานของสถานศึกษา

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดี คือ การประเมินคุณภาพตามสภาพจริงจากการดำเนินงานของสถานศึกษา โดยพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผลร่วมกันระหว่างสภาพการดำเนินงานกับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ปรากฏในรายงานฯซึ่งต้องมีข้อมูลผลการดำเนินงานสนับสนุนที่เพียงพออันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ดังกล่าว” นายคมกฤช จันทร์ขจร กล่าวในที่สุด