นครศรีธรรมราช  มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราชโชว์ผลงานเด่น มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

นครศรีธรรมราช  มทร.ศรีวิชัย โชว์ผลงานเด่น มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 วช.จัดใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
.
ผศ.สมคิด ชัยเพชร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.เสาวณีย์ ชัยเพชร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ในนามนักวิจัย นำผลงานวิจัยเรื่อง “การยกระดับการผลิตโคเนื้อ โคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช” จัดเตรียมนิทรรศการ ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บูธ AL20) โดยมี ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2022) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เป็นปีที่ 17 โดยนำเสนอผลงานนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ผศ.สมคิด ชัยเพชร กล่าวว่า ผลงานวิจัย “การยกระดับการผลิตโคเนื้อ โคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช” นั้น มีนักวิจัย ประกอบด้วย ผศ.สมคิด ชัยเพชร, ผศ.ณรงค์ชัย ชูพูล, ผศ.ดร.ประพจน์ มลิวัลย์, ผศ.ดร.เสาวนีย์ ชัยเพชร, ผศ.สพ.ญ.ดร.วิกาวี แสงสร้อย, อาจารย์ปิยะ เพชรสงค์, ผศ.ดร.เกียรติขจร ไชยรัตน์ และ อาจารย์สาธิต บัวขาว ในนามตัวแทนนักวิจัย ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย “การยกระดับการผลิตโคเนื้อ โคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2022) ครั้งนี้ รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และประการสำคัญขอขอบคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานวิจัย อีกทั้ง ขอบคุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่เป็นกำลังหลักในการส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยในทุกด้าน

สำหรับ “การยกระดับการผลิตโคเนื้อ โคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช” เป็นการขับเคลื่อนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพโคเนื้อในเขตเทือกเขาหลวงฝั่งตะวันตก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโครงการบูรณาการที่ผสมผสานระหว่างการวิจัยกับการบริการวิชาการแก่สังคม โดยการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนที่ได้มาจากกระบวนการวิจัยและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง จัดให้มีการบูรณาการข้ามระหว่างศาสตร์ และระหว่างหน่วยงาน เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนกับเกษตรกร เป้นองค์ความรู้ทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการเลี้ยงโคเนื้อ เป้าหมายต้องการให้เกิดการปฏิบัติจริงในฟาร์มเกษตรกร มีเกษตรกรและฟาร์มมาตรฐานต้นแบบ รวมถึงได้ผลผลิตโคขุนที่มีคุณภาพสูง เกษตรกรได้ผลตอบแทนที่สูงโดยการลดต้นทุนการเลี้ยง การเพิ่มมูลค่าโคและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค ต้องการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของจังหวัดนครศรีธรรมราชแบบครบวงจร

จากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงโคเนื้อ โคขุน เกษตรกรมีการนำไปใช้ประโยชน์โดยนำไปสู่การปฏิบัติจริง สามารถสร้างกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ และฟาร์มตัวอย่างได้อย่างเป้นรูปธรรม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคเนื้อ โคขุน ลุ่มน้ำปาพนัง 2562 มีการขยายผลโดยการผลิตอาหาร TMR เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกในกลุ่มและเกษตรกรที่สนใจ มรการเปิดร้านจำหน่ายผลผลิตจากเนื้อโคขุนทั้งแบบเนื้อสด แช่แข็ง และแปรรูปพร้อมรับประทาน และมีการผลิตปุ๋ยหมักมูลโค เป้นต้น ทำให้มีรายได้และเพิ่มผลตอบแทน ซึ่งเกิดจากการเพิ่มช่องทางที่มาของรายได้ (การผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย) และการเพิ่มมูลค่าโคขุนโดยสร้างจุดกระจายเนื้อและแปรรูปสู่ผู้บริโภค รวมทั้งการเพิ่มรายได้และมูลค่าจากของเสียเปลี่ยนของราคาถูกให้มีราคาแพง โดยใช้องค์ความรู้และหลักทางวิชาการ ทำให้เกษตรกรจัดการเลี้ยงโคได้ง่ายเสมือนเลี้ยงสุกรด้วยอาหาร TMR ที่สำคัญสามารถเพิ่มจำนวนโคและได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคตจึงน่าจะสามารถผลิตจำนวนโคเนื้อ โคขุน คุณภาพดีได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค (เนื้อโคขุน) และเกษตรกร (โคพ่อแม่พันธุ์) และสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกร รวมทั้งสร้างมูลค่าและยกระดับเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับชาติต่อไป