พาณิชย์จังหวัดตรัง ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จัดแถลงข่าวการจัดงาน GI Andaman Market สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมศาสตร์ (Geographical Indication : GI) และสินค้าเด่น ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด -19 คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ที่ร้านกวนนิโต้พาทิสเซอรี อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงาน GI Andaman Market สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน โดยมีพาณิชย์จังหวัดตรังและพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน ร่วมในการแถลงข่าว
ทั้งนี้นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ กล่าวว่าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ (1)กิจกรรมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการและการทำตลาดการทำการตลาดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (2) กิจกรรมจัดทำคำขอยื่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย และ (3) กิจกรรมจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และสินค้าอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง สำหรับกิจกรรมที่ 3 กิจกรรมจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า กลุ่มเป้าหมาย คือ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้าเด่นและอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ตรัง สตูล กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ) ครั้งละ 5 วัน จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 40 คูหา โดยครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2565 ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และครั้งที่ 2 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2565 โรบินสันไลฟ์สไตล์ถลาง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน บาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ประชาชนไม่ได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกระดับหนึ่ง
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า นอกจากนี้ภายใต้โครงการยังมีกิจกรรมจัดทำคำจอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีศักยภาพที่มีโอกาสขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ของกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 6 สินค้า ได้แก่ จังหวัดตรัง สินค้าข้าวเบายอดม่วงตรัง จังหวัดสตูล สินค้ากระท้อนนาปริกสตูล จังหวัดกระบี่ สินค้าทุเรียนทะเลหอย จังหวัดพังงา สินค้ามังคุดทิพย์พังงา จังหวัดภูเก็ต สินค้าส้มควายภูเก็ตและจังหวัดระนอง สินค้ากาแฟระนอง อีกด้วย
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง