อ่างทอง เกษตรกรหันมาปลูกแตงโมแทนการทำนาใช้น้ำน้อยสร้างรายได้งาม
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ของตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง พึ่งพาตนเอง โดยสร้างรายได้จากการปลูกพืชหมุนเวียนกับการทำนา ทราบชื่อว่า นายถวัล สีทอง อายุ 57 ปี เจ้าของสวนแตงโมหวาน หมู่ที่ 9 ต.หัวไผ่ อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ใช้เวลาว่างเว้นจากการทำนาหันมาปลูกแตงโมในพื้นที่ของตนเอง 4 ไร่ แทนการทำนาเพราะใช้น้ำน้อย ปลูกพันธ์แตงโมพันธุ์ ทัมอัฟ รสชาติหวานชื่นใจ โดยการปลูกไม่ยุ่งยากการให้น้ำแบบสายน้ำหยดวันละ 20 นาทีใช้เวลาปลูกประมาณ 2 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ราคาคัดไซด์ มีพี่น้องประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงมาซื้อถึงหน้าสวนโดยขายเป็นลูกราคา ตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไปถึง 50 บาท นายถวัลย์กล่าวว่ารายได้ดีมากเมื่อเทียบกับการทำนา ถือว่าการทำไร่แตงโมให้ผลผลิตดี และสร้างรายได้ ดีกว่าการทำนาข้าว จึงเป็นพืชทางเลือกและเป็นการปลูกพืชหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าของสินค้า
นายถวัลย์ กล่าวว่าจากการปลูกแตงโมหมุนเวียนกับการทำนาโดยเฉพาะตนมีพื้นที่ทำนา 2 แปลงเพื่อสลับการปลูกแตงโม และนาข้าว ส่วนแปลงที่มีพื้นที่ 4 ไร่ที่กำลังปลูกแตงดมในขณะนี้ ตนลงทุนเบ็ดเสร็จ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) หลังจากเก็บเกี่ยวขายแตงโมในแต่ละคราวจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 4- 5 หมื่นบาทโดยแตงที่ตนปลูกก็ไม่ต้องไปหาพ่อค้าคนกลางแต่อย่างใดขายในชุมชน ตำบล อำเภอที่เราอยู่ก็ยังไม่พอขาย ซึ่งการปลูกแตงโมนี้ยังเป็นการปลูกพืชหมุนเวียนกับการทำนา เป็นวิธีการหนึ่งในการปรับปรุงบำรุงให้ดินดีมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตในการใช้ปุ๋ยในการทำนาครั้งต่อไป ช่วยตัดวงจรศัตรูพืชให้หมดไปหรือลดน้อยลง มีผลผลิตหมุนเวียนสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ และมีรายได้ต่อเนื่องทำให้เกษตรกรมีการยังชีพที่มั่นคงเพื่อมุ่งการลดรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือนเกษตรกร ในพื้นที่แบบพึ่งพาตนเองก่อน ตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สาทร คชวงษ์ รายงาน