สงขลา มทร.ศรีวิชัย คว้า 3 ผลงาน โครงการ TOP 100 U2T Projects by Ent
มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ตามที่สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยและสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกันจัดโครงการ TOP 100 U2T Projects by Ent มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ส่งไปร่วมประกวด และผ่านการคัดเลือกเป็น Top15 จำนวน 3 ผลงาน โดยแต่ละผลงานมีความโดนเด่นที่แตกต่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่ตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านที่ 1 การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อวยพร วงศ์กูล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการดำเนินงานกิจกรรมยกระดับสินค้า OTOP 3 ได้แก่ กาแฟสด เครื่องแกง และสบู่น้ำผึ้ง กิจกรรมอบรมทักษะอาชีพ (ด้านอาหารและงานผ้า) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน 3 ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการอบรมเพิ่มศักยภาพผู้ขายสินค้าชุมชนและส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน การอบรมผลิตสารฆ่าเชื้อและมอบอุปกรณ์ป้องกันการระบาดของโรค Covid-19 เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีอาชีพเสริม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในสังคม รวมทั้งให้ประชาชนมีการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจากการอบรมผลิตสารฆ่าเชื้อ และเข้าถึงข่าวสารด้านสุขภาพ
โครงการสร้างและพัฒนาการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์และกิจกรรมการท่องเที่ยว พื้นที่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้านที่ 2 การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) โดย ดร.ลมุล เกยุรินทร์ คณะบริหารธุรกิจ ผลงานที่สร้างคุณค่าให้ชุมชนคลองรี คือ Khlong RI Street Art เป็นการถ่ายทอดอัตลักษณ์ของวิถีคนคลองรีผ่านการวาดภาพด้านศิลปะบนพื้นถนนคอนกรีตที่ขนานไปกับลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันตกเป็น Landmark และ จุด Check in สำหรับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนคลองรี โดยทีมงาน U2T Khlong RI และชุมชนคลองรีทั้ง 9 หมู่บ้าน ร่วมกันวาดภาพถ่ายทอดเรื่องราวบน Khlong RI Street Art
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)พื้นที่ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ด้านที่ 3 การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล โพชกำเนิด คณะศิลปศาสตร์เป็นนวัตกรรมที่ได้ถ่ายทอดให้แก่ชุมชน ได้แก่เตาชีวมวลสำหรับแปรรูปขนมซั้งยังคงเป็นที่ต้องการของชุมชน เนื่องจากประหยัดเชื้อเพลิงเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในแหล่งผลิต เนื่องจากมีควันน้อย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณกลุ่มแปรรูปขนมซั้ง หลังสถานีเกาะใหญ่ ที่ได้ขยายผลเพิ่มเติม และ เทศบาลตำบลบางเหรียง ที่ได้ประสานงานในการให้พวกเราได้ช่วยเหลือชุมชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชุมชน สังคมให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สามารถสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้ความครอบครัว นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการจัดการเรียนที่สอนให้นักศึกษาได้รู้จักการช่วยเหลือ แบ่งปันผู้อื่น ทั้งทางด้านทฤษฎี และการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง