พม. แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ พม.โพล “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19”

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานแถลงข่าว พม.โพล “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19” ผ่านระบบออนไลน์ โดย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับในช่วงโควิด-19 โดยนำผลการสำรวจมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ พม. และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว มาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,400 หน่วยตัวอย่าง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) และการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม

สำหรับผลสำรวจ พม. โพล ครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 72.23 เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนลดลง ร้อยละ 67.77 เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และร้อยละ 48.41 ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้นในเรื่องการเรียนการสอน
  2. รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการมากที่สุด คือ การเรียนการสอนแบบOn-site (เรียนในสถานศึกษา) และมีข้อเสนอแนะด้านการศึกษาเพิ่มเติม ว่าถ้ามีการเรียนแบบออนไลน์ ควรปรับลดเวลาเรียน เนื้อหาวิชาการและการบ้าน เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ควรมีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และค่าอินเทอร์เน็ต รวมทั้งลดค่าเทอมหรือไม่เรียกเก็บค่าเทอม
  3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 74.02 ได้รับผลกระทบ และ ร้อยละ 18.75 ไม่ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบที่ได้รับมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 30.90 ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 13.27 ต้องนำเงินเก็บ เงินออมมาใช้จ่าย และ อันดับ 3 ร้อยละ 11.92 การประกอบอาชีพยากลำบาก เช่น ขายของยากขึ้น
  4. การปรับตัวทางด้านการเงิน พบว่า ร้อยละ 87.36 มีการปรับตัว โดยร้อยละ 77.86 มีการปรับตัวในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50.60 หารายได้เพิ่ม และร้อยละ 31.04 นำเงินออมออกมาใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 8.36 ไม่มีการปรับตัว โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน ลดภาษีหรือลดภาระค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย เร่งให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่ง เพิ่มราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ระบาด
  5. เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 17.58 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 16.56 เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และรูปแบบการประกอบอาชีพ และอันดับ 3 ร้อยละ 14.77 ต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นแบบออนไลน์
  6. เรื่องที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 20.25 ลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษา อันดับ 2 ร้อยละ 19.67 การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สะดวกและรวดเร็ว และอันดับ 3 ร้อยละ 16.73 การจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อATKเครื่องวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวของสังคมไทย ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด พบว่า ร้อยละ 55.52 คนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ร้อยละ 44.20 ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยมีความพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ และร้อยละ 41.48 เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านสังคม มีการเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรรณรงค์สร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามแนวทางป้องกันโรคโควิด-19 สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และการมีมาตรการหรือบทลงโทษกับผู้ฝ่าฝืนการกระทำที่ก่อให้เกิดการเเพร่เชื้อโควิด – 19 อีกทั้งภาครัฐควรมีมาตรการในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด และการแก้ปัญหาอาชญากรรม

สำหรับสังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะส่วนใหญ่ทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงด้านอาชีพ จึงมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบในแง่การสูญเสียรายได้ ส่วนด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น

 

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 มิติ อาทิ มิติความเป็นอยู่ รายได้ การศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมถึงที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่  ซึ่ง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่