ตรัง จัดพิธีวางพวงมาลาพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย

จังหวัดตรัง จัดพิธีวางพวงมาลาพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย พร้อมมอบทุนการศึกษา เนื่องในวันคล้ายวันอนิจกรรม
ณ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีเกียรติคุณพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน จำนวน 30 ทุน ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อปีพุทธศักราช 2400 เมื่ออายุได้ 25 ปี พระยารัตนเศรษฐี ผู้เป็นพี่ชายได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริรักษ์ โลหะวิไสย ตำแหน่ง ผู้ช่วยเมืองระนอง ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี ในปีพุทธศักราช 2433 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นระยะเวลารวม 11 ปี ปีพุทธศักราช 2444 โปรดเกล้าให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต


พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นนักปกครองและนักบริหารดีเด่น ของกระทรวงมหาดไทย สามารถวางแผนการพัฒนาบ้านเมืองไว้ล่วงหน้าและทันสมัยในทุกด้านที่สำคัญ คือ ด้านการคมนาคมสื่อสาร เมื่อปีพุทูศักราช 2438 ได้จัดสำรวจและตัดถนนบนเขาบรรทัด เพื่อติดต่อกับจังหวัดพัทลุง นับเป็นการเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกกับตะวันออกให้ไปมาสะดวกขึ้น ถนนสายนี้ได้ชื่อว่าสวยงามมากจนได้รับขนานนามว่า “ขุนถนน” ด้านการวางผังเมืองได้ย้ายเมืองจากควนธานีไปที่กันตัง พัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือ พัฒนาจังหวัดตรังเป็นเมืองศูนย์กลางภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผลักดันให้มีการสร้างสถานีรถไฟกันตัง เพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปัจจุบันถือเป็นเส้นทางรถไฟเพียงสายเดียวของภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ท่านให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประชาชนและภิกษุสามเณร ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กตามวัด โดยมอบหมายข้าราชการช่วยสอนหนังสือการศึกษาก้าวไกล ด้วยการคัดเลือกบุตรหลานข้าราชการส่งไปศึกษาภาษาอังกฤษที่ปีนัง ศึกษาวิชาการปกครอง และการบริหารราชการที่กรุงเพทฯ

อีกทั้งส่งข้าราชการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อกลับมารับราชการหรือนำความรู้กลับมาใช้ ให้มีการส่งเสริมศิลปะพื้นบ้านทั้งหนังตะลุงและมโนราห์ ด้านการสาธารณสุข จัดให้มีแพทย์ประจำตำบลขึ้น ด้านการแพทย์หรือยาสมุนไพร ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ท่านยังได้บริจาคทรัพย์เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลมิชชันนารี แก่หมอดันแลป นับเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2452 ที่เมืองตรังมีการบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ด้านการค้า ท่านได้นำแบบอย่างตลาดนัดจากชาวชวา หมุนเวียนในแต่ละตำบล วันละแห่งให้ชาวบ้านนำสินค้าท้องถิ่นมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ด้านความสงบเรียบร้อยได้จัดตั้งกองโปลิศภูธรขึ้นให้บ้านเรือนทุกหลังจะต้องมีเกราะสำหรับไว้ตีบอกเหตุในการเรียกประชุม และด้านการเกษตรกรรมท่านมีกุศโลบายทำให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจด้านการเพาะปลูก เช่น จะได้รับยกเว้นการเกณฑ์แรงงานโยธาหรือไม่ต้องเสียภาษีอากร พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ศึกษาการปลูกและทำยางพาราจากประเทศมาเลเซีย โดยนำพันธุ์ยางพาราเข้ามาปลูกในอำเภอกันตังเป็นครั้งแรก จนท่านได้รับการขนานนามว่า “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาล บิดายางพาราไทย” พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2456 รวมสิริอายุได้ 56 ปี รัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งตำหนักผ่อนกาย ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง และในวันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็น “วันพระยารัษฎานุประดิษฐ์” จัดให้มีการประกอบพิธีทางศาสนา และวางพวงมาลา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง