สุพรรณบุรี DEPAจับมือสมาคมโรงสีข้าวกรมการข้าวหนุนเกษตรกรใช้เทคโนโลยีทำนาลดต้นทุน
ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนสงวนหญิง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี นายวินิจ เฮ่าบุญ พาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธานแถลงผลความสำเร็จการดำเนินงาน โครงการ DEPA – Mini Transformation Voucher โดยมีนายมนัสทพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวรายงานมี ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผอ.ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ นายไพรัช หวังดี ี่ปรึกษาอาวุโสโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนางสุพรรณณี คุณพันธ์หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี นายปรัชญา แตรสังข์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ นายอนุชิต ผลสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสาระสนเทศสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัล และเกษตรกรร่วมกิจกรรม
นายมนัสทพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ดำเนินโครงการ “DEPA – Mini Transformation Voucher โดยเป็นหน่วยงานร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นระยะเวลา 18 เดือน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 400 ราย รายละไม่เกิน 10,000 บาทรวมเป็นเงินอุดหนุน 3,979,075 บาท วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการการผลิตแก่เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเป็นจุดเรียนรู้สำหรับการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไป จากการสอบถามเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพบว่าได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 20% ต่อไร่
นายธนศิษฏ์ สถาปนพิทักษ์กิจ ที่ปรึกษาด้านการเงินโครงการ Thairice Nama กล่าวว่าโครงการ “DEPA – Mini Transformation Voucher เป็นโครงการนำร่องโดยเริ่มดำเนินโครงการใน 6 จังหวัดภาคกลางประกอบอด้วย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และปทุมธานี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศของเยอรมันหรือ GIZ ร่วมกับกรมการข้าว เป็นการแนะนำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำนา เช่น 1 การจัดการดินการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเทคโนโลยี โดยปรับที่นาด้วยเลเซอร์ 2 เทคโนโลยีการใช้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง 3 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 4 การจัดการฟางและตอซังข้าว ลดการเผานาโดยทางโครงการมีเงินอุดหนุนช่วยลดภาระในการทดลองใช้เทคโนโลยีปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ โดยทางโครงการThairice Nama ได้ช่วยสนับสนุนช่วยค่าปรับที่นาด้วยเลเซอร์คนละครึ่งไม่เกินไร่ละ 2,000 บาทคนละไม่เกิน 100 ไร่
นายสมเกียรติ กล่ำคุ้ม ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมการเกษตร GIZสุพรรณบุรีกล่าวว่าการปรับที่นาด้วยเลเซอร์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ชาวนาไม่ค่อยรู้จัก ส่วนมากชาวนาจะปรับที่นาแบบเปียกโดยใช้กล่องลากดินเลนจากที่ดอนลงสู่ที่ต่ำ ส่วนดินแข็งก็ไม่สามารถลากไปได้ การวัดระดับก็ใช้สายตามองน้ำในนาความราบเลียบสม่ำเสมอก็จะน้อย ส่วนการปรับพื้นนาด้วยเลเซอร์ เป็นการปรับแบบแห้งใช้เลเซอร์เป็นตัวควบคุมการลากดินจากที่ดอนกระจายลงที่ต่ำก็จะมีประสิทธิภาพสูง ราบเลียบสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง สามารถทำให้ลดการใช้น้ำจากเดิมได้ถึง50 % และยังช่วยประหยัดน้ำมัน การควบคุมวัชพืชมีประสิทธิ์ภาพดีขึ้น ต้นข้าวเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ผลผลิตเพิ่มขึ้น การสุกแก่ของข้าวพร้อมกันคุณภาพข้าวดีขึ้น ช่วงเก็บเกี่ยวนาแห้งทั้งแปลงรถเกี่ยวลงไปเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้นเมล็ดข้าวร่วงหล่นน้อยลง
น.ส.บุญนำ สว่างศรี เกษตรกร หมู่ 2 ต.กระเสียว อ.สามชุก กล่าวยืนยันว่าตนทำนา 20 ไร่จากที่เคยทำนาแบบเก่าทำให้ที่นาไม่เสมอข้าวก็โตไม่เท่ากันและสุกไม่พร้อมกันเวลาเก็บเกี่ยวก็มีปัญหารวมทั้งการควบคุมวัชพืชในนาก็ทำลำบาก ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ใช้เลเซอร์ปรับพื้นนาตนยังคิดว่าไร้สาระ แต่พอได้ทดลองใช้จึงรู้ว่าได้ผลจริงข้าวโตงามสุกสม่ำเสมอ เก็บเกี่ยวก็ง่ายและพร้อมกันผลผลิตก็เพิ่มขึ้นต่างจากการทำนาแบบเก่ามาก
นายกำพล ทองโสภา เกษตรกร อ.ดอนเจดีย์ ที่ใช้เลเซอร์ปรับพื้นนากล่าวว่าเมื่อก่อนปรับพื้นนาด้วยระบบสายตาไม่สามารถทำให้พื้นที่สม่ำเสมอได้แต่หลังจากปรับที่นาโดยใช้เลเซอร์ ปรากฏว่าที่นาสม่ำเสมอมาก สามารถช่วยประหยัดน้ำจากที่เคยสูบน้ำ2วันก็เหลือวันเดียวน้ำก็ทั่วทั้งแปลงทำให้ต้นข้าวโตสม่ำเสมอ ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นช่วยลดต้นทุน ตนคิดว่าการปรับที่นาด้วยเลเซอร์นี้เป็นประโยชน์กับเกษตรกร ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ลดการเผานาช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี