มหาดไทยย้ำแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ เน้นย้ำ ““ความยากจน” คือ ความเดือดร้อนของประชาชนในทุกเรื่องที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเป็นแม่ทัพแก้ไขทุกปัญหาความเดือดร้อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เป็นช่องทางรับปัญหาความเดือดร้อนของ ศจพ.
วันนี้ (9 มี.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และตน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่มอบนโยบายและซักซ้อมแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงทีมขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เกิดความรับรู้เข้าใจในการการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติ โดยกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. ซึ่งมีเป้าหมายคือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” โดยให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน ซึ่งในปี 65 มีคนจนเป้าหมายในระบบ จำนวน 1,025,782 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ซึ่งนายอำเภอต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางจากเมนูแก้จน 5 ด้านจาก TPMAP ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ หากเป็นปัญหาแตกต่างจากแนวทางดังกล่าว ให้หน่วยงานแก้ไขตามอำนาจหน้าที่เป็นรายครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ ต้องแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 โดยแบ่งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องกำกับติดตาม “ทีมพี่เลี้ยง” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขแบบพุ่งเป้า เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาและการจัดทำแผนครัวเรือนด้วยหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร ทางออก โดยการมีส่วนร่วมของครัวเรือนในการวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหากับทีมพี่เลี้ยงโดยสมัครใจ ไม่เป็นการบังคับ รวมทั้งกำกับและติดตามการรายงานผลการดำเนินงาน ศจพ. ทุกระดับพร้อมบันทึกลงใน Logbook รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทุกช่องทาง ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำในการสร้างความเข้าใจกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับว่า ““ความยากจน” คือ ความเดือดร้อนของประชาชนในทุกเรื่องที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำในตอนนี้ อันถือเป็น “กระดุมเม็ดแรก” คือ ต้องสำรวจผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้ครบ โดยกรมการปกครองได้พัฒนาระบบ Thai QM เป็นเครื่องมือให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ ใช้สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่มิติด้านรายได้เท่านั้น แต่ครอบคลุม “ความเดือดร้อนทุกเรื่อง” เช่น บ้านที่อยู่อาศัยไม่มีทะเบียนบ้าน ปัญหายาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน หรือไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ต้องเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้บรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน
“การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติ วาระจังหวัด วาระอำเภอ และเป็นวาระแห่งชีวิตของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนที่ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการกลไก/เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ด้วยแนวทาง 2 มิติ คือ “มิติยาฝรั่ง” ทำให้อยู่รอด ไม่เดือดร้อน ทำให้มีบ้าน ได้เรียนหนังสือ มีปัญหาขอรับความช่วยเหลือได้ทันที โดยส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ แก้ไขปัญหา และ“มิติยาไทย” ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเน้นย้ำสร้าง “ทีมที่จริงใจ” ปลุกใจให้ทีมมีใจมุ่งมั่นร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งจะสำเร็จ (Success) ได้จาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ทัศนคติ (Attitude) ความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) จับมือกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด องค์กรเอกชน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ รวมทีมลงไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งนายอำเภอสามารถปรับองค์ประกอบทีมพี่เลี้ยงได้ตามสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของคนยากจนเป้าหมาย เพื่อได้บุคคลที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหา เช่น พระสงฆ์ คหบดี เกษตรกร หรือบุคคลที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และรวบรวมทุกความเดือดร้อนของประชาชนให้ครบถ้วน โดยหากปัญหาเรื่องใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับอำเภอให้รายงานไปที่จังหวัด และหากไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัด ให้รายงานมาที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำเพิ่มเติมในช่วงแรก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องกำกับ ติดตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มี “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนควบคู่กับโครงสร้างของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 60 และได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2561 กำหนดแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือประชาชนผ่านการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เป็นศูนย์ข้อมูลที่รวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชนและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณภัย ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก รวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหา โดยบูรณาการทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจน/ความเดือดร้อน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ในด้านการการแก้ไขปัญหาร่วมกับโครงสร้างด้านสังคม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นกรอบแนวทางเพื่อวัดจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของชาวบ้าน และรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
“เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในการแจ้งปัญหาความเดือดร้อน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนรับทราบช่องทางการแจ้งปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปัญหา อุปสรรค ให้กระทรวงทราบทุกเดือน เพื่อกระทรวงมหาดไทยจะได้รายงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งแจ้งส่วนราชการในพื้นที่รายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้ต้นสังกัดในส่วนกลางเพื่อให้รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงได้รับทราบผลการดำเนินงานของกลไกในระดับพื้นที่ อันจะทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจน แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2565
วันที่ 9 มี.ค. 2565