จังหวัดตรัง จัดพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่นายอำเภอพร้อมคู่สมรสและกลุ่มทอผ้าในจังหวัดตรัง
วันนี้ (9 มี.ค.2565) ที่โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมืองตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นางละมัย เจริญโสภา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”ให้แก่นายอำเภอพร้อมคู่สมรส และกลุ่มทอผ้าในจังหวัดตรัง 10 กลุ่ม เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อเชิญไปมอบให้แก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัดตรัง เพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นให้มีความทันสมัยสามารถก้าวสู่สากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
โอกาสนี้ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เปิดกรวยกระทงดอกไม้ เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกใน พระกรุณาธิคุณใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสาน พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพพระองค์ทรงต่อยอดผสมผสาน มุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์เรื่องราวประจำภูมิภาคเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนชาวไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้าชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทย จะคงอยู่คู่กับสังคมไทย โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมป์จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจกรรมการประกวด ทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย ประกอบด้วย “ ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ” “ ท้องทะเลไทย ” และ“ ป่าแดนใต้ ”ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรม จากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์แนวพระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติกเป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยสามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน เปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เศรษฐกิจฐานรากอันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป” เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทอดพระเนตรการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้จาก 14 จังหวัดภาคใต้ และการจัดนิทรรศการผ้าไทยโบราณ การย้อมสีธรรมชาติ และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอผ้าเกาะยอ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค นำไปทอผ้าผลิตผ้าตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายลึกซึ้งแสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาในการสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพและมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดจนได้นำกลุ่มทอผ้าจังหวัดตรัง มาจัดแสดงและจำหน่ายผ้าลายอัตลักษณ์และผ้าลายพระราชทาน “ลายของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” นับเป็นความปลาบปลื้มของพสกนิกรของชาวจังหวัดตรังอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตา ตลอดจนทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง