ปลัด มท. บรรยายพิเศษหลักสูตรนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรี รุ่นที่ 3 เน้นย้ำ ใช้กลไก “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องถิ่น พร้อมร่วมกัน Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน
วันนี้ (2 มี.ค. 65) เวลา 16.00 น. ที่ห้องผาไท 1 ชั้น 2 สถาบันพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ “การเสริมสร้างสมรรถภาพนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรี รุ่นที่ 3 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ และผู้เข้าฝึกอบรมซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี และรองนายกเทศมนตรี รวมจำนวน 72 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายกเทศมนตรี เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่แรกเกิด ดังเช่นการพัฒนาเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีพัฒนาการสมบูรณ์ทุกด้านผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา 5 ฐาน คือ ฐานที่ 1 ค่ายกล Spider man ฐานที่ 2 สระน้ำ อิน จัน ฐานที่ 3 สระทารก ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ เพราะเด็กต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เสริม ให้ได้เกิดการพัฒนา IQ ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม รวมถึงด้านจิตใจ และระเบียบวินัย จากการเข้าคิวเข้าแถวเล่น เช่น เล่นดิน เล่นทราย ปีนป่ายต้นไม้ โหนเชือก สไลเดอร์ เล่นขายขนมครก ทำกับข้าวที่กองทราย ฝึกความกล้าหาญ เล่นสะพานเชือก ส่งผลให้เกิดการพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้เกิดพัฒนาการทางสมอง เพราะการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก ทำให้เกิดความสามัคคีกัน เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี อันจะทำให้เด็กในท้องถิ่นได้รับสิ่งที่ดี มีความสุข มีความพร้อมที่จะเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยตั้งเป้าหมาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีกลไกขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานขับเคลื่อนในภาพรวมจังหวัด และนายอำเภอเป็นประธานระดับอำเภอ โดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานจากระบบ TPMAP 5 มิติ คือ ด้านสุขภาพ ด้านการเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นนี้ มีกลไกที่เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ผ่าน “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการติดตั้งป้ายด้านหน้าที่ทำการให้ชัดเจน และมอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พร้อมเชิญผู้ที่มีจิตอาสา มีจิตใจที่อยากช่วยประชาชน มาร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับกรรมการชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และประชุมพิจารณาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายในแต่ละด้าน โดยต้องอาศัยผู้มีจิตใจที่เป็นกุศล เสียสละ ทำศูนย์ฯ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ศจพ. นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้วัดได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างเป็นระบบด้วยการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ (Big Data) เพื่อสามารถวางแผนดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต ส่งผลต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ และแก้ไขตามสภาพปัญหา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกเทศมนตรี มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งเป็นการสืบสานอัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่กับท้องถิ่น ตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย อุดหนุนผ้าไทยจากฝีมือคนไทย ดังแนวคิดที่ว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการ พนักงาน และพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น อันจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนอุดหนุนจุนเจือช่วยเหลือประชาชนผู้ประกอบการทอผ้าในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงชุมชนพึ่งตนเองได้ นอกจากนี้ ผู้บริหาร อปท. สามารถส่งเสริมการลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ในบริเวณรั้วบ้าน ซึ่งเป็นการช่วยลดรายจ่าย สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงจากพืชผักปลอดสารพิษ และยังเป็นการสร้างความรักของคนในครอบครัว รวมถึงอาจทำให้เกิดการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายพืชผักจากสวนอีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องดำเนินการบริหารจัดการขยะในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการที่สามารถทำให้เกิดการสร้างกระแสในท้องถิ่น ผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ที่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ตั้งแต่อายุ 7 ปี เป็นต้นไป ทำให้เกิดเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่และสำคัญในการรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกิดวัฒนธรรม 3ช คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นมนุษย์คัดแยกขยะ รวมถึงส่งเสริมให้แต่ละบ้านทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ นำถังอะไรก็ได้มาตัดก้นถังออก ขุดหลุมให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง ปากถังสูงเหนือกว่าดิน และนำขยะเปียก ขยะเศษอาหาร น้ำล้างจาน มาเทใส่ถังขยะเปียก และปิดด้วยฝาถัง ทำให้เกิดเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน บำรุงต้นไม้ บำรุงพืชผักสวนครัว อีกด้วย
“งานของเทศบาลเป็นงานที่ต้องดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน วิธีการทำงานที่สำคัญที่สุด คือ ต้องไปคิด ไปวางแผนทำ 3 เรื่อง คือ 1) งานที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ 2) งานนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ (Extra job) ด้วยการนำอุดมการณ์ (Passion) ที่คิดอยากให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน ในเขตเทศบาล มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยนำสภาพปัญหามาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาโดยกลไกศูนย์ช่วยเหลือประชาชน และ 3) การรายงาน (Report) และสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Public Relations) ให้ประชาชนได้รับรู้การขับเคลื่อนงานอันจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ในหลายลักษณะ ทั้งการบอกปากต่อปาก เสียงตามสาย ประกาศ และสื่อมวลชนในพื้นที่ ทั้งนี้ การฝึกอบรมในครั้งนี้ จะทำให้ท่านนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีที่เข้ารับการฝึกอบรม จะได้มีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน มีองค์ความรู้ มีข้อมูลข่าวสารมาถ่ายทอด สร้างเครือข่ายในการทำงาน นำตัวอย่างความสำเร็จของเทศบาลอื่น มาวิเคราะห์ประยุกต์พัฒนาในท้องถิ่นเทศบาลของท่าน เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน อันเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2565
วันที่ 2 มี.ค. 2565