ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดกิจกรรม Live Market ทดลองขายผลิตภัณฑ์ กิจกรรมโครงการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาดจาก “ดอนกอยโมเดล” สู่ตลาดสากล กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และกิจกรรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP
วันนี้ (25 ก.พ. 65) เวลา 11.30 น. ที่ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการ Live Market ทดลองขายผลิตภัณฑ์ กิจกรรมโครงการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาดจาก “ดอนกอยโมเดล” สู่ตลาดสากล กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และกิจกรรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อู๋ – วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH จ๋อม – ศิริชัย ทหรานนท์ (จ๋อม เธียเตอร์) ศิลปิน และสื่อมวลชน ร่วมในกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความสำเร็จของการส่งเสริมการพัฒนาผู้ทอผ้าให้มีทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดกระทั่งประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยหากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตรวจเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ โดยทรงทอดพระเนตรเห็นผู้มาเฝ้ารับเสด็จมีความเดือดร้อนทุกข์ยากจากสถานการณ์อุทกภัยและผลผลิตทางการเกษตรทุกตกต่ำ จึงทรงครุ่นคิดว่าจะทำยังไงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระทั่งในปี 2515 พระองค์ทรงพบว่าประชาชนมีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าได้อย่างวิจิตร งดงาม สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยจากบรรพบุรุษ พระองค์จึงทรงใช้หัตถกรรม หัตถศิลป์ดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยการทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ และทรงมีพระดำรัส “ขาดทุนคือกำไร : Our loss is Our gain” กำไรในที่นี้ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเมื่อมีการทอผ้าเพิ่มมากขึ้น จึงทรงส่งเสริมในเรื่องช่องทางการตลาดและการพัฒนายกระดับคุณภาพของผลงานโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และเป็นที่นิยมมากในสมัยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการที่ “ผู้นำต้องทำก่อน” ในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ทำให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชน ต่างนิยมชมชอบในการสวมใส่ผ้าไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงปลายปี 2562 และต้นปี 2563 นับเป็นเดชะบุญของพวกเราชาวไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเข้ามาสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงพระราชทานองค์ความรู้ตามหลักวิชาการด้านศิลปกรรม โดยไม่ละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมเก่าก่อน ด้วยการพัฒนาต่อยอดสี ลวดลาย เทคนิค เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าเป็นที่สนใจ เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนไทยทุกเพศทุกวัยรวมถึง Global ไปถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปลุกเร้ากระตุ้นให้ผู้ทอผ้าได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทรงมีกุศโลบายในการจัดประกวดการออกแบบลวดลายผ้าเพื่อให้เป็นสุดยอดฝีมือรวมถึงการให้ความรู้เรื่องสีจากธรรมชาติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทรงนำวิชาศิลปะแฟชั่นตะวันตก นำผ้าไทยไปสู่ตลาดโลกที่ไร้พรมแดน ทั้งยังพระราชทานองค์ความรู้ผ่านการทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Trendbook ถ่ายทอดงานวิชาการด้านผ้าให้กับประชาชนอย่างแพร่หลาย และสิ่งที่ถือเป็นเครื่องตอกย้ำถึงพระทัยที่มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องกลุ่มทอผ้า นั่นคือ พระองค์ทรงเสด็จลงไปเยี่ยมชาวบ้านถึงใต้ถุนบ้านเก่า ๆ พื้นที่เต็มไปด้วยดินแดง มีหยากไย่อยู่ข้างฝาบ้าน ไปเห็นกี่ทอผ้า ลงไปคลุกคลี ไปพระราชทานคำแนะนำถึงชุมชน ทำให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณา และเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทาบทามให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศ เช่น หมู อาซาว่า อู๋ วิชระวิชญ์ จ๋อม เธียร์เตอร์ มาเป็นวิทยากร มาเป็นโค้ช ในการให้คำแนะนำพี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้า รวมถึงเรื่องเทคนิคการออกแบบตัดเย็บ ทำให้เกิดเป็นผลงานผลผลิตที่มีความวิจิตร งดงาม มีความร่วมสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด กระทั่งในหลาย ๆ ชุมชนยอดการสั่งจองล้นตลาดจนผลิตไม่ทัน เช่น กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกลอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร พระองค์ท่านทรงลงไปโน้มน้าวจิตใจให้กลุ่มทอผ้า ให้พี่น้องประชาชนได้ลองทำ แบ่งเฉดสีครามเป็นสิบ ๆ เฉด ตั้งแต่เข้มอ่อนถึงจางหวาน พัฒนา Packaging กระทั่งส่งผลทันตา คือ ผ้าของดอนกลอยขายดีถล่มทลาย ทำให้เกิดกำลังใจในการสืบสานภูมิปัญญา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาสืบทอดสิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์ในการ “พัฒนาคน” เหมือนกับการเจียระไนเพชร เพื่อให้คนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีผู้สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงค้นพบอันเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ นั่นคือ “อัจฉริยภาพของฝีมือคนไทย” ที่เป็นมืออันมหัศจรรย์ ทำอาหารก็อร่อย ทำงานหัตถศิลปหัตถกรรมก็วิจิตรบรรจง และเมื่อได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดนำเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านแฟชั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี เรื่องการตัดลวดลาย การคิดลวดลาย นำลวดลายที่บรรพบุรุษได้ตกทอดมาให้ดัดแปลงให้สวยงามเข้ากับยุคสมัย รวมถึงประยุกต์เป็นข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้าที่ทันสมัย ทั้งยั้งได้มาร่วมกันชื่นชมผลงานของเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของครอบครัวและประเทศชาติต่อไป งานในวันนี้ทำให้ปลายน้ำของวงจรชีวิตของคนที่มีความขยันหมั่นเพียรอุตสาหะ ผลิตชิ้นงานขึ้นมาได้มีโอกาสแพร่กระจายให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสชื่นชมและสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ เป็นการตอกย้ำถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงสืบสานคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยไปสู่การตลาดที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังประโยชน์ให้คุณภาพชีวิตน้องพี่น้องประชาชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยกลไกพัฒนากรที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการนำเสนอ 3 กิจกรรมด้านส่งเสริมผ้าไทยที่สำคัญ ได้แก่ 1) Premium OTOP เป็นโครงการที่คัดเลือกพื้นที่ที่มีผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง โดยได้รับพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพระราชทานคำแนะนำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงและต่อยอดขยายผลช่องทางการตลาดสู่สากล 2) Young OTOP เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15 – 30 ปี เพื่อให้มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสมัยใหม่ ออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สามารถเป็นที่ต้องการของตลาดคนรุ่นใหม่ได้เลือกซื้อ และ 3) “ดอนกลอย model” ในพื้นที่บ้านดอนกลอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ได้รับพระมหากรุณาในการพัฒนาองค์ความรู้การทอผ้าคราม ซึ่งได้ขับเคลื่อนพัฒนาไปแล้วใน 4 หมู่บ้าน และในอนาคตจะขยายออกไปหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อที่จะทำให้พื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผ้าทุกผืนของบ้านดอนกลอยถูกจองไว้ทั้งหมด มีตลาดรองรับ 100% กลุ่มทอผ้าผลิตแทบไม่ทัน จากเดิมมีรายได้เฉลี่ย 7,000 กว่าบาท ปัจจุบันเป็นหลัก 100,000 บาท เป็นการตอกย้ำให้พวกเราได้สำนึกในพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงทำให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้เกิดการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทหลักที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่พวกเราชาวพัฒนาชุมชนความภาคภูมิใจที่วันนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองงานทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน พี่น้องประชาชนกลุ่ม OTOP กลุ่มศิลปาชีพ และกลุ่มต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ อาทิ www.otoptoday.com แพลทฟอร์มการตลาด เช่น shopee Lazada รวมถึงช่องทาง Facebook ของกลุ่ม ของอำเภอ ของจังหวัด ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการพัฒนาด้านเศรษฐกิจฐานราก และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.co.th และ Facebook Fanpage โครงการต่าง ๆ เช่น โคก หนอง นา โมเดล Tour from home รวมทั้งโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับพช. และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ทั่วประเทศ
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2565
วันที่ 25 ก.พ. 2565