สุพรรณบุรี  ชาวนาเดือดร้อนแมลงดำหนามระบาดในนาข้าว

สุพรรณบุรี  ชาวนาเดือดร้อนแมลงดำหนามระบาดในนาข้าว
ที่ จ.สุพรรณบุรี ดร.รัตติกาล อินทมา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าวศูนย์สุพรรณบุรี นายวสันต์ จี้ปูคำ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นางบำรุงรัทย์ ขันทอง เกษตรอำเภอสามชุก นำเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช ระบาดในนาข้าว พื้นที่ หมู่ 5 หมู่ 7 ต.หนองผักนาก และ หมู่ 2 ต.บ้านสระ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จากการตรวจสอบพบศัตรูพืชที่กัดกินทำลายต้นข้าวคือตัวแมลงดำหนามกำลังระบาดในนาข้าวพื้นที่รวมประมาณ 500 ไร่


ดร.รัตติกาล อินทมา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าวศูนย์สุพรรณบุรี เปิดเผยว่าวันนี้เจ้าหน้าที่สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าวศูนย์สุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี และเกษตรอำเภอสามชุก ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของแมลงดำหนามที่ หมู่ 2 ต.บ้านสระและหมู่ 7 ต.หนองผักนาก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 250 ไร่ จากการตรวจสอบพบการระบาดของแมลงดำหนาม ที่ 2 ตัวต่อต้นถือว่าเป็นว่าเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะต้องทำการควบคุมกำกับ เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำกับเกษตรกรโดยการป้องกันกำจัด โดยการใช้สารคาร์โบซัลแฟน เพื่อลดความเสียหายในการทำลายของตัวแมลงดำหนาม


สำหรับตัวแมลงดำหนามนี้จะมีการระบาดเป็นครั้งคราวแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายรุนแรงแต่เมื่อมีการระบาดก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อข้าวได้ ตัวโตเต็มวัยจะทำลายโดยทำให้ข้าวเกิดรอยขีดสีขาวที่บริเวณปลายใบข้าวถ้าพบปริมาณ 2 ตัวต่อต้นแล้วไม่ควบคุมกำจัดจะเกิดความเสียหายทำให้ข้าวสังเคราะห์แสงได้และข้าวจะเกิดการแคระแกนผลผลิตก็จะลดลง หลังจากได้แนะนำวิธีให้เกษตรกรใช้ใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟน กำจัดแล้วได้เข้ามาติดตามพบว่าจำนวนของแมลงดำหนามลดลง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้แนะนำให้เกษตรกรหมั่นเฝ้าระวังโดยการสุ่มสำรวจแปลงทุกอาทิตย์โดยการสำรวจในช่วงตอนเย็นเวลาประมาณ 15.00-17.00 น.และช่วงเช้าประมาณ 06.00-08.00 น.
และอีกวิธีคือการกำจัดหญ้าบริเวณคันนาเนื่องจากหญ้าคันนาจะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวแมลงดำหนาม ถ้าคันนาสะอาดก็จะลดจำนวนแมลงดำหนามได้ และให้เกษตรกรใช้สวิงโฉบในแปลงนาเพื่อดูแมลงศัตรูธรรมชาติถ้าพบแมลงประเภทตัวหั้ม ตัวเบียนให้งดการใช้สารเคมีเพื่อเป็นการอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ สำหรับตัวแมลงดำหนามตัวโตเต็มวัยจะทำลายกัดกินผิวใบบริเวณส่วนปลายใบเริ่มตั้งแต่ข้าวระยะแตกกอหรืออายุข้าว45 วันจนถึงข้าวออกรวง ถ้าถูกแมลงดำหนามทำลายจะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตมากแต่ถ้าข้าวออกรวงเต็มเมล็ดแล้วก็จะเสียหายน้อย


ทางด้าน นายอาคม พิมพ์แสง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ต.หนองผักนาก อ.สามชุก ซึ่งทำนาในพื้นที่ หมู่ 7รวม 80 กว่าไร่กล่าวว่าตัวแมลงดำหนามได้ระบาดกัดกินข้าวในนาได้ประมาณ 1 เดือนและระบาดมากในพื้นที่หมู่ 5 หมู่ 7 ต.หนองผักนาก และ หมู่ 2 ต.บ้านสระ อ.สามชุก รวมประมาณ 500 ไร่ โดยข้าวที่ถูกแมลงดำหนามกัดกินนั้นอายุตั้งแต่ 40 วันถึงออกรวงตนและเกษตรกรต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อลดตัวแมลงดำหนามให้น้อยลงนอกจากนี้ยังต้องหมั่นดูแปลงนาในทุก7วัน เพราะตัวแมลงดำหนามจะกัดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบข้าวจะทำให้ใบข้าวมีสีขาวลายหากปล่อยไว้ก็จะได้รับผลกระทบต้นข้าวก็จะตายไม่ออกรวงผลผลิตก็จะลดลง และข้าวก็จะไม่มีน้ำหนักถ้าเราฉีดสารเคมีให้ตัวแมลงลดน้อยลงก็ยังสามารถฟื้นฟูต้นข้าวกลับมาได้ อย่างไรก็ตามต้องหมั่นสำรวจแปลงนาทุก7วันถ้าเจอก็ต้องฉีดพ่นสารเคมีซ้ำอีกถึงแม้ขณะนี้ตัวแมลงดำหนามในแปลงนาของตนจะลดลงแต่ก็ยังระบาดข้ามไปพื้นที่ใกล้เคียงจึงฝากให้เกษตรกรที่ทำนาหมั่นสำรวจแปลงนาของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี