นครปฐม ผบช.ภ.7 บูรณาการออกตรวจสถานที่เก็บเนื้อสุกร เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า

นครปฐม   ผบช.ภ.7 บูรณาการออกตรวจสถานที่เก็บเนื้อสุกร เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า

ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ที่เก็บเนื้อสุกร ในจังหวัดนครปฐม เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าจากกรณีที่เนื้อสุกรชําแหละมีราคาสูง

วันที่ 21 มกราคม 2565 ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พลตำรวจโทธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พร้อมด้วยนายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ,ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ,ปลัดจังหวัดนครปฐม,ปศุสัตว์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการออกตรวจสถานที่เก็บเนื้อสุกร ที่บริษัท เฮียซน (ลูกเกษ) จำกัด ม.6 ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม และบริษัท เฟรชมีท โพรเซสซิ่ง จำกัด ม.2 ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม


จังหวัดนครปฐมมีสถานที่เก็บเนื้อสุกรทั้งหมด 30 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม 16 แห่ง อำเภอสามพราน 5 แห่ง อำเภอดอนตูม 3 แห่ง อำเภอนครชัยศรี 2 แห่ง อำเภอพุทธมณฑล 2 แห่ง อำเภอกำแพงแสน 1 แห่ง และอำเภอบางเลน 1 แห่ง มีสุกรที่เก็บในห้องเย็นทั้งสิ้น 800-900 ตัน
พลตำรวจโทธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ได้สั่งการให้บูรณาการทุกภาคส่วนลงพื้นที่ตรวจแหล่งชำแหละ แช่ หรือจัดเก็บเนื้อสุกร เนื่องจากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จากกรณีมีการนำเนื้อสุกรเข้ามากักตุนในห้องเย็น ทำให้ราคาเนื้อสุกรสูงขึ้น โดยในวันนี้ได้บูรณาการกำลังกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ 2 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ประกอบการอย่ากักตุนเนื้อสุกร อย่าเพิ่มภาระให้กับประชาชน หากตรวจพบว่าผู้ประกอบการทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ติดตามรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และมีข้อสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม บูรณาการกับฝ่ายปกครอง และพาณิชย์จังหวัด เข้าตรวจสถานที่พักซากสุกร ทุกแห่ง ในจังหวัดนครปฐม จำนวน 30 แห่งให้แล้วเสร็จพร้อมรายงานผลการตรวจภายในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 โดยทั้ง 30 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม 16 แห่ง อำเภอสามพราน 5 แห่ง อำเภอดอนตูม 3 แห่ง อำเภอนครชัยศรี 2 แห่ง อำเภอพุทธมณฑล 2 แห่ง อำเภอกำแพงแสน 1แห่ง และอำเภอบางเลน 1 แห่ง โดยขอให้ทุกอำเภอลงพื้นที่ตรวจสอบราคาเนื้อสุกรในตลาดสดต่างๆ ว่ามีราคาสูงกว่าที่กรมการค้าภายในกำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนให้พาณิชย์จังหวัดประชาสัมพันธ์โครงการจำหน่ายเนื้อสุกรราคาประหยัดที่มีกว่า 9 แห่งในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเปิดจำหน่ายถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท


นอกจากนี้ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ได้กล่าวถึงสถานการณ์ โรคอหิวาต์แอฟฟริกาในสุกร (ASF) หลังจากที่มีประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังในพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม ขณะนี้สถานการณ์ในภาพรวมไม่พบเชื้อจากตัวสุกรที่ป่วย แต่พบเชื้อในท่อน้ำทิ้งของโรงฆ่าสัตว์ 1 ตัวอย่าง จาก 130 ตัวอย่าง ยังยืนยันว่าเชื้อที่พบนั้นพบในโรงฆ่าสัตว์ แต่ยังไม่พบเชื้อจากการตรวจเลือดจากสัตว์ที่ป่วยแต่อย่างใด ในเรื่องของมาตรการเชิงรุกของฟาร์มเลี้ยงสุกร หากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องมีการเจาะเลือดตรวจ เมื่อผ่านจึงอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ เนื่องจาก จ.นครปฐม มีโรงฆ่าสัตว์มากที่สุดในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังที่โรงฆ่าสัตว์ด้วย

************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม – ข่าว