ส.ส.โชติวุฒิ ประสานบิ๊กป้อม จัดสรรน้ำช่วยเหลือเกษตรกรสิงห์บุรี
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องพื้นที่การเกษตรจังหวัดสิงห์บุรีประสบภาวะขาดแคลนน้ำ
โดยเนื้อหามีใจความว่า ” จังหวัดสิงห์บุรีได้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเมื่อเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีพื้นที่การเกษตรประสบภัยน้ำท่วมประมาณ 28,746 ไร่ หลังจากการเสียหายและน้ำลด มีน้ำในพื้นที่นาและคูคลองส่งน้ำ เกษตรกรจึงได้ลงมือทำนาทันทีจากน้ำที่ยังมีอยู่ถึงประมาณ 70%ของพื้นที่ โดยเชื่อว่าปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตมีน้ำเพียงพอที่จะช่วยการทำนาของเกษตรกรได้
ขณะนี้ต้นข้าวมีอายุประมาณเดือนเศษกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง โดยหน่วยงานชลประทานไม่สามารถส่งน้ำได้เพียงพอต่อพื้นที่นาข้าวที่เกิดขึ้น และคาดว่าจะเกิดการเสียหายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรได้ร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี (นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์)ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเรื่องน้ำเพื่อบรรเทาความเสียหายและความเดือดร้อนของเกษตรกร ”
จากนั้นวันที่ 8 มกราคม 2565พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สั่งการให้ สทนช.(สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การใช้น้ำเพื่อการเกษตร ณ ที่ทำการฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตรตำบลโพสังโฆ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. และคณะ
ได้ร่วมประชุมรับฟังสถานการณ์ในปัจจุบันและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 พร้อมลงพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดวิกฤติ ร่วมกับ นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี , ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อํานวยการสํานักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา (ผู้แทนกรมชลประทาน) , รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 , ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร รับฟังและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยมีเกษตรกรและผู้นำชุมชนเข้าร่วมประมาณ 60 คน ซึ่งผลการประชุมจะทำการสูบน้ำสำหรับบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในเขตตำบลโพสังโฆ และตำบลถอนสมอ
ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้ขอร้องให้เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้ว ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงต่อไป