สุพรรณบุรี  พุทธศาสนิกชนร่วมสืบทอดประเพณีตักบาตรกลางน้ำ กว่า 100 ปี

สุพรรณบุรี  พุทธศาสนิกชนร่วมสืบทอดประเพณีตักบาตรกลางน้ำ กว่า 100 ปี
ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีตักบาตรกลางน้ำ ที่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนหน้าศาลเจ้าพ่อตลาดคอวัง ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า โดยมีนายอมรวุฒิ อนันตทิพยเมธี นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแหลม กล่าวต้อนรับ มีนางนภัสสร สุวรรณประทีป นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี นายจตุพร อุ่นวิจิตร สจ.เขต 3 อ.บางปลาม้า ว่าที่ร้อยตรีธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอบางปลาม้า นางนุชจรินทร์ อุ่นวิจิตร กำนันตำบลบ้านแหลม คณะผู้บริหารและประชาชนร่วมให้การต้อนรับ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประเปิดงานได้ร่วมตีฆ้อง คณะกลองยาวและนางรำ ที่มาเล่นต้อนรับ


นายอมรวุฒิ อนันตทิพยเมธี นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแหลม กล่าวว่าประเพณีตักบาตรกลางน้ำนี้ประชาชน 2 ตำบล ประด้วยตำบลบ้านแหลม และตำบล ตะค่า อำเภอบางปลาม้า ได้ร่วมสืบสานกันมายาวนาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเพณีที่เก่าแก่และดีงาม ตั้งแต่สมัยปู่ ย่าตายาย ได้จัดสืบทอดกันมานับ 100 ปี ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทย ส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำให้เกิดความร่วมมือ และสามัคคีขึ้นในชุมชนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน


กิจกรรมที่จัดขึ้นจะมีพระสงฆ์พายเรือรับบิณฑบาตรจากท่าน้ำหน้าตลาดคอวังยาวไปถึงวัดเจ้าขาวระยะทาง 1 กิโมเมตร จะมีพุทธศาสนิกชน ประชาชนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่มาร่วมทำบุญนำข้าวสารอาหารแห้งมาใส่บาตรพระสงฆ์อยู่ริมแม่น้ำ เป็นการสืบสานประเพณีตักบาตรกลางน้ำ ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ที่เทศบาลตำบลบ้านแหลม และเทศบาลตำบลตะค่าร่วมกับจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยถือเอาวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 โดยกิจกรรมดังกล่าวได้สืบทอดมายาวนานกว่า 100 ปี


ทั้งนี้พิธีตักบาตรเริ่มต้นในเวลารุ่งอรุณถือเอาตอนพระสงฆ์สามารถมองเห็นใบไม้ คือ ประมาณตี 5 ครึ่งถึง 6 โมงเช้า พระภิกษุกว่า 100 รูป จากวัดต่าง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนจำนวน 31 วัด พายเรืออีแปะมารับบิณฑบาตกลางลำน้ำท่าจีนจากบริเวณหน้าตลาดคอวังถึงวัดเจ้าขาวระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุกว่า 80 ปี เล่าว่า ในสมัยก่อนเมื่อถึงฤดูทำนา ชาวบ้านจะพักอาศัยที่ขนำโรงนาชั่วคราว ทำนาเสร็จจึงจะกลับบ้าน ทำให้ว่างเว้นจากการทำบุญตักบาตรไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น เมื่อว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านจึงนิมนต์พระมารับบิณฑบาตพร้อมกัน โดยกำหนดวันทำบุญไว้เป็นการแน่นอน คือทุกวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 แต่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี