ตรัง นายกรัฐมนตรีเปิดท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดตรังเปิดท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ที่ท่าเทียบเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน โดยมีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวรายงานความเป็นมา วัตถุประสงค์และความพร้อมการเปิดท่าเรือปากเมงประตูสู่อันดามัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวรายงาน หลังจากนั้นประธานในพิธีได้ร่วมปล่อยขบวนเรือท่องเที่ยว ณ ท่าเทียบเรือ พร้อมทั้งพบปะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเข้มงวด


สำหรับการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการปรับปรุงท่าเรือปากเมงเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2561 สืบเนื่องมาจากท่าเรือปากเมงเดิมก่อสร้างและใช้งานมามากกว่า 30 ปี สภาพท่าเรือมีความชำรุดทรุดโทรม คับแคบ ไม่มีอาคารพักคอยผู้โดยสาร ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเทียบเรือและจอดรถยนต์ เกิดความแออัดในการเทียบเรือหน้าท่า และการจราจรทางบกในช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น กรมเจ้าท่าจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ศึกษาออกแบบปรับปรุงท่าเรือให้มีความสวยงามเหมาะสม มีมาตรฐานมั่นคง แข็งแรง มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสม รองรับการใช้งานของผู้พิการและผู้สูงอายุ ในขั้นตอนการศึกษากรมเจ้าท่าได้ทำการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ประชาชน ผู้ประกอบการ ธุรกิจท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ฝาด หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนจนได้รูปแบบที่เหมาะสม

ประกอบด้วย ถ้าเทียบเรือกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ทุ่นเทียบเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 30 เมตร สะพานทางเชื่อมความยาว 145 เมตร แบ่งแยกการใช้งานระหว่างรถยนต์ขนสัมภาระกับทางเดินเท้ามีซุ้มประตูสู่อันดามัน จุดถ่ายภาพเช็กอินระหว่างทางเดินเท้าไปยังปลายท่าเรือ อาคารบริการนักท่องเที่ยวมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 1,147 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ไปเป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่สำหรับดูแลความปลอดภัย จุดบริการนักท่องเที่ยวโถงพักคอย ห้องน้ำ ทางลาด และห้องน้ำสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ และพื้นที่จอดรถ ด้วยสถาปัตยกรรมของอาคาร ท่าเรือเป็นแบบอาคารในเขตร้อนชื้น (Tropical modern) ด้วยเส้นสายการออกแบบที่เรียบง่าย สร้างพื้นที่โปร่งโล่งขนาดใหญ่ คำนึงถึงสภาพอากาศและภูมิประเทศเป็นปัจจัยหลัก ผสานกับบริบทสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติของเขาเมงที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังท่าเรือ เกิดเป็นแลนด์มาร์กทางน้ำแห่งใหม่ของประเทศไทย ภายหลังการศึกษาแล้วเสร็จกรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อก่อสร้างท่าเรือวงเงิน 144 ล้านบาทเศษ แล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา


นอกจากนี้การก่อสร้างท่าเรือปากเมงยังถือเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาท่าเรือปี 2561 – 2567 เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันจำนวน 13 ท่า ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 5 ท่า ได้แก่ท่าเรือสุระกุล จังหวัดพังงา ท่าเรือเกาะลันตาใหญ่ ท่าเรือสวนสาธารณะธารา ท่าเรือท่าเล จังหวัดกระบี่ รวมถึงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง เพื่อรองรับตามแผนพัฒนาท่าเรือเส้นทางวงแหวนอันดามันเชื่อมโยงการเดินทางอากาศทางบกและทางน้ำ ของจังหวัดกระบี่ พังงาและภูเก็ต สร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจนำความเจริญสู่ท้องถิ่นและประชาชนเพื่อสนับสนุนนโยบายของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง