ตรัง ผู้ว่าฯแถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน กรณีสื่อนำเสนอข่าวเรื่องหมู่บ้านที่ถูกลืม

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน กรณีสื่อนำเสนอข่าวเรื่องหมู่บ้านที่ถูกลืม ยืนยันจังหวัดตรังได้ปรับยุทธวิธีในการทำงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งเร่งให้ทุกอำเภอจัดตั้ง ศูนย์แยกกักในชุมชน( Community Isolation : CI ) ในส่วนของการเปิดการท่องเที่ยวเฟส 2 นั้นทางจังหวัดกำลังประเมินสถานการณ์ ในขณะที่การแพร่ระบาดในเรือนจำตรัง สามารถควบคุมได้แล้ว ขอให้ญาติผู้ต้องขังมั่นใจได้
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายณรงค์ หนูคง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตรัง นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอกันตัง นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น โฆษก ศบค.ตรัง แพทย์หญิงทิพย์ลดา บุญชัย รองโฆษก ศบค.ตรัง ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดตรัง พร้อมชี้แจงความเข้าใจกับประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เน้นย้ำเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้าง มีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ กว่า 200 รายต่อวัน ซึ่งหากพิจารณาจากคลัสเตอร์ที่แพร่ระบาดพบว่ามีหลายคลัสเตอร์ ทั้งในตลาดสด ชุมชนแออัด แพปลา โรงงานอุตสาหกรรม การลักลอบเล่นการพนัน งานศพและเรือนจำ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ในการช่วยกันป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนได้มีวินัยในตนเองและเคร่งครัดมาตรการในการป้องกันโรค จะสามารถช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดตรังได้ โดยขอให้พี่น้องประชาชนได้ป้องกันตนเองและครอบครัวให้ดีที่สุด ก็จะช่วยให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโรคโควิด-19 ยืนยันว่าแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตามแต่ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดตรัง ทำให้วันนี้มีการใช้เตียงเกินศักยภาพที่มีทั้งในโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง โรงพยาบาลสนามทั้ง 4 แห่ง รวมถึง Hospitel ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 2,000 เตียง แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จึงได้เร่งรัดให้ทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์แยกกักในชุมชน( Community Isolation : CI ) ให้แล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้( 1 พฤศจิกายน 2564) อีกทั้งยังได้เร่งรัดให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน( Community Isolation : CI ) เพิ่มเติม หากมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น และจากการลงพื้นที่ติดตามกรณีมีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเรื่องหมู่บ้านที่ถูกลืม ยืนยันว่า ทาง อสม.และองค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก ได้ติดตามตรวจเยี่ยมและมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว มิได้ทอดทิ้งอย่างที่เป็นข่าว แต่พบข้อผิดพลาดของการประสานงานเรื่องการจัดส่งยาระหว่างโรงพยาบาลตรังและโรงพยาบาลกันตัง

เนื่องจากผู้ติดเชื้อทำการตรวจหาเชื้อกับทางโรงพยาบาลตรัง และทางโรงพยาบาลตรัง ได้ทำการตรวจหาเชื้อ ATK พบผลเป็นบวก จึงได้ประเมินอาการผู้ป่วยและให้กลับไปดูแลที่บ้าน Home Isolation ซึ่งทางโรงพยาบาลตรังจะได้ประสานทางโรงพยาบาลกันตัง ให้จัดส่งยาและอุปกรณ์ในการวัดความหนาแน่นของออกซิเจนในเลือดให้ที่บ้าน ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้สั่งปรับยุทธวิธีในการทำงาน นำข้อผิดพลาดไปดำเนินการแก้ไข และปรับรูปแบบในการจัดส่งยาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับกระบวนการทำงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม จังหวัดตรัง ได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานแจ้งผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด 19 ในจังหวัด หมายเลขโทรศัพท์ 075 – 290650-2 และ 095-0129086 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 น ถึง 20.00 น .


ในขณะที่เรือนจำจังหวัดตรัง กำหนดแนวทางในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเรือนจำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญาติผู้ต้องขัง เนื่องจากการรับย้ายผู้ต้องขังเข้าใหม่จากเรือนจำกลางจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 จำนวน 10 ราย เป็นผู้ต้องขังชาย จำนวน 9 ราย ผู้ต้องขังหญิง จำนวน 1 ราย มีผลตรวจเป็นลบทั้งหมด จึงได้แยกผู้ต้องขังไว้ในห้องแยกกักโรค ซึ่งเป็นมาตรการปกติของทางเรือนจำจังหวัดตรัง ที่ต้องแยกกักเป็นเวลา 21 วัน จนกว่าจะมั่นใจว่าผลเป็นลบ ปลอดเชื้อโควิด 19 จึงจะนำตัวเข้าสู่แดนปกติ จนกระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังมีอาการไม่ได้กลิ่น จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อด้วยด้วยชุด Antigen test kit หรือ ATK ในผู้ต้องขังรายดังกล่าว พบผลเป็นบวก จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังในห้องแยกกักโรคทั้งหมด 193 ราย พบผลบวก 24 ราย

ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง พร้อมคณะ เข้าทำตรวจหาเชื้อ RT-PCR ผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด 288 ราย พบผลบวก 163 ราย และในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ตามแนวทางของแพทย์โรงพยาบาลตรัง ได้ทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุด Antigen test kit หรือ ATK ในกลุ่มผู้ต้องขังทั้งหมดภายในเรือนจำ เมื่อพบผลบวก ให้แยกผู้ต้องขังไปยังโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำ และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในทันที โดยมีผลบวกทั้งสิ้น 607 ราย นอกจากนี้การเปิดการท่องเที่ยวในเฟส 2 ของจังหวัดตรังนั้นต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีผู้ป่วยติดเชื้อจำวนมาก อาจจะต้องเลื่อนการเปิดการท่องเที่ยวออกไปก่อน
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง