อุบลราชธานี พระผู้ยึดหลัก “บวร” ขับเคลื่อน “โคก หนอง นา พช.”

พระปัญญาวชิรโมลี แห่งวัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พระผู้ยึดหลัก “บวร” ขับเคลื่อน “โคก หนอง นา พช.” สู่การเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ประสานความร่วมมือกับ นายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ณ แปลงตัวอย่างงบพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กรมการพัฒนาชุมชน ได้อำนวยอวยพรให้ข้อคิดในการขับเคลื่อนโครงการฯ

สำหรับแปลงตัวอย่างวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากงบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 บนพื้นที่ 5 ไร่ ปัจจุบัน เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม พระนักพัฒนาชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี ได้ขยายผลเพื่อต่อยอดการดำเนินโครงการฯ โดยการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” เพิ่มอีกในเนื้อที่ 20 ไร่ ควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Socar Cell) เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เเละฝึกปฏิบัติในสถานที่จริงแก่ผู้ที่สนใจในการทำ “โคก หนอง นา” ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) เป็นกลไกพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้

โอกาสนี้ เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ได้เมตตาเสนอข้อมูลว่า “ในพื้นที่ 20 ไร่ ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ให้มีความสวยงามในรูปแบบ “โคก หนอง นา” เพื่อให้มีความร่มรื่นเเละให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เเละที่สำคัญคือศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นแบบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้อย่างยั่งยืน ขออนุโมทนาและขอบคุณจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้อนุมัติและจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้แก่วัดป่าศรีแสงธรรม จำนวน 52,568 บาท และขณะนี้ได้นำนักเรียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เฉลี่ยวันละ 40-60 คน จึงถือเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตและมีผู้มาศึกษาเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน”

เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี ยังได้เมตตากล่าวแสดงสัมโมทนียกถา ในเรื่องของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีกว่า “เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ต้องทำให้พอกิน คนเราเมื่อกินอิ่มก็มีเรี่ยวแรงจะทำอะไรต่อไปได้ การจะพัฒนาเบื้องต้นจึงต้องให้มีกิน และกินอย่างไรไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย จากนั้นค่อยพัฒนาให้มี พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งป่า 3 อย่างจะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพรสำหรับรักษาโรค ทั้งโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของคนขยัน ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำ เกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาความขาดแคลนนำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพ่อหลวงของเรา”

“ในช่วงฤดูฝนที่พระพิรุณโปรยปรายแทบจะทุกวัน การพัฒนาพื้นที่ ก็มิได้หยุดหย่อน ยังมีกิจกรรมในพื้นที่แปลง “โคก หนอง นา” ร่วมกับชาวบ้านผู้มีจิตอาสาและนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรมอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวที่ว่า หนอง 1 โคก 1 ความมั่นคงทางอาหาร ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม แต่ถ้าชักช้าไม่ได้พร้าเล่มงาม หลังจากที่รถขุดหนองที่ 1 เสร็จทั้งหมดมี 6 หนอง เราก็จะได้ดินจากการขุด ไม่ได้เอาไปไหน แต่ยกเป็นคันดินให้สูง และกว้างประมาณ 8-10 เมตร นั่นคือโคก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดการต้นไม้ จัดการที่ดิน ดูระบบการให้น้ำ ดูทิศทางลมในแต่ละฤดู และดูทิศทางแสงดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ วงโคจรของโลกในแต่ละเดือนมีส่วนต่อการเอียงของแกนโลกกับพระอาทิตย์ เมื่อคิดจะทำป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างก็ต้องเลือกปลูปป่า 5 ระดับ หนองที่ 1 โคกที่ 1 จะมีต้นมะม่วง 90 ต้น แต่พอมากะหลุมด้วยระยะห่าง 6 เมตรแล้วได้เพียง 60 ต้น เป็นไม้หลัก การปลูกจนกว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 4-5 ปี มีเขียวเสวย 30 ต้น กับ โชคอนันต์ 30 ต้น ส่วนแก้วขมิ้น 30 ต้น คงต้องหาที่ปลูกใหม่ มีมะพร้าวน้ำหอมสลับระหว่างต้น ระยะห่าง 4-6 เมตร รอบขอบหนอง 30 ต้น ส่วนที่ 2 เป็นไม้กลาง อายุการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1-3 ปี กล้วยน้ำหว้า พันธุ์ปากช่อง 50 เป็นไม้พี่เลี้ยง อาจจะมีต้น แคแดง แคขาว อ้อย มะละกอ หรือพวกสมุนไพรอื่น ๆ สลับไป ขอดูรายการไม้อีกที ไม้ที่ 3 เป็นไม้เตี้ย มะเขือ พริก โหรพา กะเพรา มะเขือเทศเตรียมมาในพื้นที่ว่าง ไม้ที่ 4 คือประเภทเรี่ยดิน ฟักทอง แตงไทย ผกบุ้ง ผักกาด ผักคะน้าต่าง หรืออื่นๆ ถ้ามี ไม้สุดท้ายคือพวกใต้ดิน ขิง ข่า กระชาย ตะไคร้”

“ประการสุดท้ายต้อง ททท. คือทำทันทีที่คิดได้ ตากดิน ผสมปุ๋ยหมัก ขุดคลองไส้ไก่เล็ก กับหลุมขนมครกบนคันดิน เวลาให้น้ำจะได้กระจายไปทั่ว และเวลาฝนตกจะไม่ชะล้างขอบสระให้พังทลาย มีหญ้าแฝกคนละอันกับหญ้าแพรกนะ เป็นพระเอกกั้นดินระยะยาว ส่วนระบบการให้น้ำ ปลูกเยอะขนาดนี้คงต้องจ้างคนมาดูแลไม่งั้นตายหมด กำลังออกแบบระบบให้น้ำควบคุมด้วยอินเทอร์เน็ต คนรดน้ำต้นไม้ดูในจอทีวีหรือจอมือถือกดคำสั่งรดน้ำไปทีละแปลง หรือจะเป็นเวลาด้วย Timer ก็ได้ รวมไปถึงระบบเซ็นเซอร์วัดความชื้นของดิน ถ้าแห้งเกินก็รดน้ำ ถ้าเปียกแล้วปิด รอดูว่าเด็ก ๆ ที่นี่จะใช้ Internet of things ยังไง รอดูกันว่าแปลงเดียวจะเลี้ยงทั้งตำบลได้อย่างไร อย่ายึดติดตำรา บุคคล กาล สถานที่ เป็นหลักเดียวกันกับหลักธรรมะที่ว่า อกาลิโก บางที่ก็มุ่งไปทางไม่ยึดติดตำราฝรั่งก็อาจใช่ แต่บางทีก็ลืมไปว่ายึดติดตัวเองก็มี จนบางครั้งคนจะทำด้วยก็ไปได้ยากเพราะกลัวผิดหลักการของคนพาทำ การแม่นในหลักการและวิธีปฏิบัติเป็นสิ่งดี แต่ถ้ามีอัตตา มีทิฐิเมื่อไหร่ก็กลายเป็นกิเลสไปเสียซึ่งเห็นได้มากในหมู่นักปฏิบัติ จึงขอฝากสั้น ๆ ไว้ก่อน”

ขณะที่ นายภคิน ศรีวงศ์ ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และได้กราบเรียนถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้รัฐบาลและงบกรมการพัฒนาชุมชน ว่า “จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,960 ราย มากที่สุดในประเทศไทย และได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหน่วยดำเนินการ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครัวเรือนพื้นที่​ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต​ครัวเรือนละ 1 คน จำนวน 3,892 คน และผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงานสร้างรายได้ (นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ) จำนวน 898 คน รวม 4,790 คน ปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 42 รุ่น คงเหลือดำเนินการอีก 6 รุ่น เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดำเนินการ 48 รุ่น ๆ ละ 100 คน ใช้สถานที่ฝึกอบรม จำนวน 5 แห่ง ซึ่งวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ ก็เป็นหนึ่งในสถานที่จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นฯ จำนวน 11 รุ่น ที่ผ่านมา ขอกราบขอบพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี ที่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา และเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell ให้กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงประชาชนและคนในพื้นที่ สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้ชุมชนมีกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการสร้างทางรอดให้กับชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#WorldSoilDayCDD

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี..ภาพข่าว/รายงาน